มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal Cancer)

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของคนไทย  โดยมีระยะการเกิดมะเร็งเริ่มจากการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุผนังของลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรงผิดปกติ และพบว่าส่วนใหญ่มากกว่า 90% เริ่มจากเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ (Polyp) เมื่อเวลาผ่านไปติ่งเนื้อนี้จะเจริญเติมโตขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด  หากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งอาจลุกลามหรือแพร่กระจายต่อไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้เช่น ตับ ปอด เยื่อบุช่องท้อง สมอง หรือกระดูกได้ 

 

อาการ

 

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็ง อาจไม่แสดงอาการผิดปกติ  แต่ะจะพบว่ามีอาการเกี่ยวกับการขับถ่ายที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในระยะลุกลามแล้ว เช่น 

  

  • ท้องผูกมากขึ้น ถ่ายเป็นมูกเลือด
     
  • ท้องผูกสลับกับท้องเสีย
     
  • ถ่ายอุจจาระลำเล็กลง ลักษณะเปลี่ยน
     
  • ปวดท้องเรื้อรัง ท้องอืด แน่นท้อง จุกเสียด มีลมในลำไส้มาก
     
  • เหนื่อยเพลียจากภาวะซีด
     
  • บางคนก็มีภาวะน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
     
  • คลำเจอก้อนได้ที่หน้าท้องในกรณีที่เป็นเยอะแล้ว
     

ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวจึงควรรีบมาพบแพทย์ 

 

สาเหตุ 

 

จากการศึกษาในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ แต่ผู้ที่จะมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลักๆ คือ 

 

  • มีประวัติทางพันธุกรรม เช่น มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคทางพันธุกรรมบางชนิด
     
  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease)
     
  • เคยฉายแสงในอุ้งเชิงกราน
     
  • มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยง เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ รับประทานอาหารทอด ปิ้งย่าง ไขมันสูง เป็นต้น
     

 

 

การตรวจคัดกรอง 

 

การตรวจคัดกรอง ให้ทำในผู้ที่ยังไม่มีอาการผิดปกติ ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือในกรณีที่มีความเสี่ยงตามที่กล่าวมาข้างต้น ควรตรวจคัดกรองในช่วงอายุที่น้อยลง ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางได้ก่อน โดยมีระยะเวลาการตรวจคัดกรองที่แนะนำดังนี้ 

 

  • การตรวจหาเลือดในอุจจาระ(FIT test) ปีละครั้ง
     
  • การเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่โดยใส่แป้งเข้าทางทวารหนัก (Barium enema) ทำทุก 5 ปี
     
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT-Colonography) ทำทุก 5 ปี
     
  • การตรวจโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทำทุก10 ปี
     

 

 

การวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

 

  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อดูตำแหน่งของรอยโรค
     
  • การตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) มาตรวจทางพยาธิวิทยา
     
  • การตรวจเลือดเพื่อดูค่า CEA
     
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อดูการกระจายของโรคไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
     
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI) ในบางกรณี เช่น มะเร็งลำไส้ตรง

  

    

การรักษา 

 

การรักษาหลักในระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย คือการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก โดยเทคนิกการผ่าตัด ขึ้นกับตำแหน่งของก้อนเนื้อ ส่วนการให้เคมีบำบัดหรือการฉายแสงจะมีประโยชน์ในบางกรณีที่มีข้อบ่งชี้ ปัจจุบันการผ่าตัดมีสองวิธี คือ 

1. การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open surgery)

 

2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic surgery)

 

 

ซึ่งการผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผ่าตัด ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 5 -10 mm ประมาณ 4 แผล และแผลที่เปิดเพื่อเอาก้อนเนื้อออกขนาดประมาณ 4 - 5 cm  โดยผลการรักษามะเร็งในระยะยาวไม่แตกต่างกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่การผ่าตัดแบบส่องกล้องมีข้อดี คือ 

 

  • ผู้ป่วยจะเจ็บแผลน้อยกว่า และฟื้นตัวได้รวดเร็ว
     
  • ผู้ป่วยนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลสั้นกว่าเดิม


     

สนับสนุนข้อมูลโดย : ผศ.นพ.ปุณวัฒน์ จันทรจำนง

ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรม (General Surgery Center)  

 

คลิก > โปรแกรมตรวจคัดกรองมะเร็ง