วิธีสังเกต ไข้เลือดออก ภัยใกล้ตัวจากยุงลาย (Dengue Fever)

 

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มียุงลายเป็นพาหะ

 

การติดต่อ โรคไข้เลือดออกเดงกี ติดต่อกันได้โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่ จะมียุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้ป่วยได้

 

ระยะฟักตัว ระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสเดงกี ในคน ประมาณ 3-14 วัน โดยทั่วไปประมาณ 5-8 วัน

 

ระยะติดต่อ โรคไข้เลือดออกเดงกี ไม่ติดต่อจากคนสู่คน ติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นแมลงนำโรค การติดต่อจึงต้องใช้เวลาในผู้ป่วยและในยุง ระยะที่ผู้ป่วยมีไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 จะมีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก ระยะนี้จะเป็นระยะติดต่อจากคนสู่ยุง และระยะเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในยุงจนมากพออีกประมาณ 8-10 วัน จึงจะเป็นระยะติดต่อจากยุงสู่คน

 

 

 

 

อาการ หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี (dengue fever: DF) ไปจนถึงมีอาการรุนแรง (dengue hemorrhagic fever: DHF) และรุนแรงมาก จนถึงช็อกและเสียชีวิต (dengue shock syndrome: DSS)

 

 

 

ผู้ป่วยมีอาการได้ 3 แบบ คือ

1. Undifferentiated fever (UF) หรือกลุ่มอาการไวรัส

2. ไข้เดงกี (Dengue fever – DF)

3. ไข้เลือดออกเดงกี (Dengue hemorrhagic fever – DHF)

 

โรคไข้เลือดออกเดงกี มีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ดังนี้

1. ไข้สูงลอย 2-7 วัน

2. มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง

3. มีตับโต กดเจ็บ

4. มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก

 

 การดำเนินโรคของโรคไข้เลือดออกเดงกี แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤต/ช็อก และระยะฟื้นตัว

1. ระยะไข้

  • ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน
  • บางรายอาจมีอาการชัก โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน
  • ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (flushed face)
  • ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล หรืออาการไอ เบื่ออาหาร อาเจียน
  • อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้
  • อาการเลือดออกที่พบบ่อย คือ ที่ผิวหนัง การทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena)
  • ส่วนใหญ่จะคลำตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ

 

2. ระยะวิกฤติ / ช็อก

  • ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี จะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว
  • เวลาที่เกิดอาการช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน)
  • ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก

 

3. ระยะฟื้นตัว

  • ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลด ส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
  • ระยะฟื้นตัวมีช่วงเวลาประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน

 

การป้องกัน

  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก สำหรับผู้ที่มีอายุ 9-45 ปี โดยฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน
  • สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด รนอนในมุ้งหรือติดมุ้งลวด ทายากันยุง ป้องกันยุงลายกัด
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น โอ่งน้ำ ถ้วยรองขาตู้ แจกันดอกไม้ ยางรถยนต์

 

 

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรครุนแรงมากขึ้นและเสียชีวิต ได้แก่

  • ภาวะอ้วน มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น รวมทั้งการไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลช้า และห้ามซื้อยารับประทานยาเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่มแอสไพริน (Aspirin) หรือ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เนื่องจากยาทั้ง 2 ชนิด นี้ เป็นยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ที่มีฤทธิ์ลดไข้ที่ดี แต่ข้อเสียของยากลุ่มนี้ คือ สามารถออกฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำและเพิ่มภาวะเลือดออกได้
  • กรณีผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่รักษาแบบ Home Isolate ระวังการถูกยุงกัด เนื่องจากในกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง 608 หากป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกร่วมด้วย จะทำให้มีอาการรุนแรง การรักษายุ่งยาก และมีโอกาสเสียชีวิตสูง

 

แหล่งที่มา : กรมควบคุมโรค กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กระทรวงสาธารณสุข

 

 

หากท่านมีอาการดังกล่าว ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาได้ทันที ที่ศูนย์อายุรกรรมและ ศูนย์สุขภาพเด็ก 

โรงพยาบาลนวเวช  โทร. 0 2483 9999 

 

คลิก > วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก (3 เข็ม)