กรดไหลย้อน และอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

  • อาหารมัน หรือ มีไขมันสูง อาหารเหล่านี้ ได้แก่อาหารที่ผ่านการทอด ผัด หรือมีส่วนประกอบของกะทิ ครีม เนย ชีส เช่น ขนม เบเกอรี่ต่างๆ โดยอาหารเหล่านี้จะใช้เวลาย่อยนานกว่าปกติ ทำให้อาหารค้างในกระเพาะนาน จึงทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น อาหารไขมันสูง จะไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนบางตัว ทำให้หูรูดบริเวณหลอดอาหาร ที่ทำหน้าที่กั้นไม่ให้กรดหรือสารในกระเพาะไหลย้อนเข้าไปให้ลอดอาหาร นั้นหย่อนขึ้น เกิดกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น 
     
  • อาหารรสเปรี้ยว หรือ ผลไม้รสเปรี้ยว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีหลักฐานสนับสนุนแน่ชัด แต่ก็พบว่าการกินอาหาร หรือ ผลไม้รสเปรี้ยวดังกล่าว สามารถกระตุ้นอาการกรดไหลย้อนได้ในผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง โดยอาจอธิบายได้จากการกระตุ้นการหลั่งกรดที่มากกว่าปกติ ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น
     
  • ช็อคโกแลตถึงแม้ว่าการกินช็อคโกแลตจะทำให้เราอารมณ์ดีจากสาร serotonin แต่ในขณะเดียวกัน ช็อคโกแลตก็มีฤทธิ์ทำให้หูรูดบริเวณหลอดอาหารตอนล่างหย่อนมากขึ้น ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น
     
  • อาหารที่มีพริกเป็นส่วนประกอบ หรือ รสชาติเผ็ดโดยสารcapsaicin ที่อยู่ในพริกจะทำให้อาหารในกระเพาะถูกย่อยช้าลง ทำให้กรดหลั่งมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่อาการของกรดไหลย้อนมากขึ้นได้
     
  • เครื่องดื่มที่อัดแก๊ส น้ำอัดลมเครื่องดื่มอัดแก๊สมีส่วนทำให้หูรูดกั้นกรดจากกระเพาะอาหารหย่อนมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น จึงทำให้มีอาการกรดไหลย้อนง่ายขึ้น
     
  • แอลกอฮอล์ นอกจากแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ทำให้หูรูดที่หลอดอาหารหย่อนมากขึ้น ยังทำให้สร้างกรดในกระเพาะมากขึ้น และแอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบโดยตรงได้อีกด้วย
     
  • ชา และ กาแฟ ถึงแม้ว่า คาเฟอีนในชาและกาแฟ จะมีผลไม่มากนักต่อกรดไหลย้อน แต่ในผู้ป่วยไม่น้อย พบว่าคาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้ สามารถกระตุ้นอาการกรดไหลย้อน หรือทำให้ควบคุมอาการของโรคได้ยากขึ้น

 

จะเห็นว่า มีอาหารหลายประเภทสามารถกระตุ้นกรดไหลย้อนได้ โดยผ่านหลายกลไก ดังนั้นสิ่งสำคัญในการรักษากรดไหลย้อน คือการปรับพฤติกรรม และการปรับอาหารที่รับประทาน โดยหากยังมีอาการของกรดไหลย้อน หลังปรับพฤติกรรมและควบคุมอาหารอย่างดีแล้ว ควรได้รับการประเมินโดยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อพิจารณาให้การรักษาด้วยยา ควบคู่กับการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสมเพิ่มเติม และในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องส่องกล้องทางเดินอาหาร เพื่อประเมินโรค และให้การวินิจฉัยที่ช่วยในการรักษาต่อไป

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.จิตราภา แสนโภชน์

แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร

 

คลิก > โปรแกรมส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่