ทำไมเด็กๆ จึงควรเคลือบฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ
เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุคือการที่แบคทีเรียในช่องปากสร้างกรดมาทำลายโครงสร้างของฟันหรือที่เรียกกันว่า demineralization ดังนั้นหน้าที่ของฟลูออไรด์ก็คือการส่งเสริมการสะสมของแร่ธาติ หรือ remineralization นั่นเอง ซึ่งเกิดขึ้นจากฟลูออไรด์อิสระกระตุ้นให้เกิดการสะสมแร่ธาตุและยับยั้งการละลายตัวของแร่ธาตุที่ผิวฟันในคราบจุลินทรีย์และผิวเคลือบฟัน และมีการแทนที่ในผลึก hydroxyapatite สร้างเป็นผลึกที่ทนต่อการละลายของกรดได้มากขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุได้นั่นเอง
การเคลือบฟลูออไรด์สำหรับเด็กที่ทำโดยทันตแพทย์คืออะไรบ้าง เวลาผู้ปกครองพาเด็กๆ มาเคลือบฟลูออไรด์ จะเห็นว่าทันตแพทย์ใช้ฟลูออไรด์ในรูปแบบต่างกันขึ้นอยู่กับเด็กในแต่ละช่วงอายุหรือการให้ความร่วมมือของเด็กๆ แต่ละคน ซึ่งโดยทั่วไปทันตแพทย์จะใช้ฟลูออไรด์สองรูปแบบ ได้แก่
1. ฟลูออไรด์เจล (gel) การใช้ฟลูออไรด์เจลสามารถลดอัตราฟันผุ อุด ถอน เฉลี่ยร้อยละ 20 ในฟันน้ำนม แต่ไม่พบประสิทธิภาพในการยับยั้งการลุกลามของรอยฟันผุ มักใช้กับเด็กมีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุสูง และอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปที่สามารถให้ความร่วมมือในการเคลือบฟลูออไรด์ สารประกอบฟลูออไรด์ที่ใช้ได้แก่ 1.23 % Acidulated phosphate fluoride; APF) ซึ่งการเคลือบฟลูออไรด์เจลนั้น เริ่มแรกทันตแพทย์จะทำการขัดฟันให้คราบต่างๆ หลุดออกจากตัวฟันก่อน แล้วจึงเลือกถาดใส่เจลให้เหมาะกับขนาดและจำนวนฟันของเด็ก จากนั้นใส่เจลในถาดและให้กัดถาดไว้เป็นเวลา 4 นาที โดยมีการดูดน้ำลายและเจลส่วนเกินตลอดเวลา โดยหลังจากเคลือบฟลูออไรด์เจล ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำผู้ปกครองให้เด็กงดบ้วนน้ำ ดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหาร 30 นาที
2. ฟลูออไรด์วาร์นิช ฟลูออไรด์วาร์นิชมีประสิทธิภาพการป้องกันฟันผุร้อยละ 33 ในฟันน้ำนม โดยมักจะใช้สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี หรือ เด็กที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือ และ มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุสูง หรือมีฟันเริ่มผุ (white spot lesion) โดยมักจะหลีกเลี่ยงในกรณีที่เด็กมีประวัติการแพ้วัสดุที่มีลักษณะกาวเหนียวเป็นส่วนประกอบ ผู้ที่มีแผลในปาก มีโรคเหงือก หรือมีการอักเสบของเนื้อเยื่อในช่องปาก หรือเป็นโรคหอบหืด
โดยทันตแพทย์จะทาฟลูออไรด์วาร์นิชหลังขัดฟัน เช่นเดียวกับฟลูออไรด์เจล แต่ฟลูออไรด์วานิชจะมีลักษณะเป็นครีมข้นเหนียว ไม่มีถาดสำหรับใส่ โดยเน้นทาบริเวณฟัน เลี่ยงบริเวณเหงือกเพื่อลดโอกาสแพ้หรือระคายเคือง โดยทันตแพทย์จะให้คำแนะนำผู้ปกครองให้เด็กงดอาหารแข็ง 2 ชั่วโมง และงดแปรงฟันในวันนั้น เพื่อเพิ่มเวลาในการยึดติดและการปล่อยฟลูออไรด์สู่ฟัน
สนับสนุนข้อมูลโดย : ทพญ.อติพร จุลศักดิ์ศรีสกุล
แพทย์เฉพาะทางทันตกรรมทั่วไป
คลิก > แพ็กเกจขัดฟันและเคลือบฟลูออไรด์