กรดไหลย้อนก่อให้เกิดผลเสียระยะยาวอย่างไรบ้าง

กรดไหลย้อน คือโรคไม่พึงประสงค์ โรคยอดฮิตที่พบได้บ่อยในวัยทำงาน เกิดจากกรดที่หลั่งจากกระเพาะอาหาร สามารถไหลย้อนมาบริเวณหลอดอาหารได้ แล้วทำให้เกิดอาการของกรดไหลย้อน ได้แก่ แสบอก แน่นอก เรอเปรี้ยว เรอขม คลื่นไส้ หายใจไม่สะดวก จุกแน่นในลำคอ รวมไปถึงอาการอื่นๆ ที่พบได้น้อย แต่อาจมีสาเหตุจากกรดไหลย้อน ได้แก่ หอบ กลืนลำบาก กลืนติด เจ็บคอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ฟันผุ เป็นต้น

 

อาการเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความไม่สบายตัว รบกวนชีวิตประจำวัน ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมลดลง และที่แย่กว่านั้น อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากกรดไหลย้อนเรื้อรัง หรือ รุนแรง ได้แก่
 

  • หลอดอาหารอักเสบ หรือ เป็นแผล เมื่อกรดที่ควรอยู่ในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร จะทำให้เยื่อบุหลอดอาหารเกิดการอักเสบ และหากการอักเสบรุนแรง หรือเรื้อรัง ก็อาจเป็นแผลในที่สุด

 

  • หลอดอาหารตีบ หากหลอดอาหารส่วนปลายมีการอักเสบเรื้อรัง อาจนำไปสู่การตีบของหลอดอาหารส่วนปลาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก กลืนติด อาเจียนหลังรับประทานอาหาร ร่วมกับอาการของกรดไหลย้อน

 

  • มะเร็งหลอดอาหาร สุดท้ายหากกรดไหลย้อนเกิดขึ้นซ้ำๆ ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหาร อาจนำไปสู่การเกิดของเซลล์มะเร็งที่บริเวณดังกล่าว จนกลายเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารในที่สุด ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่สุดของกรดไหลย้อน

 

กล่าวโดยสรุป โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่พบบ่อย รักษาไม่ยาก หากได้รับการปรับพฤติกรรม ร่วมกับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม หากปล่อยไว้ ไม่ได้รับการประเมินตัวโรค และการรักษาอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.จิตราภา แสนโภชน์

แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร

 

 

คลิก > โปรแกรมส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่