โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือแผลเป็ปติก (Peptic ulcer disease)

โรคแผลเป็ปติก หมายถึง แผลที่เกิดขึ้นที่กระเพาะอาหาร (gastric ulcer) หรือ ลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenal ulcer) ซึ่งกลไกการเกิด และปัจจัยเสี่ยงคล้ายคลึงกัน เป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในคนไทย และทั่วโลก เป็นสาเหตุของอาการปวดเสียด จุกท้องหรือลิ้นปี่ เป็นๆหายๆ แน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เลือดออกทางเดินอาหาร ภาวะซีด กระเพาะอาหารทะลุ หรือ อาจเป็นอาการแสดงของมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้นการป้องกัน รวมถึงการวินิจฉัย การรักษารอยแผล และรักษาสาเหตุการเกิดแผลได้อย่างถูกต้อง ร่วมกับติดตามหลังการรักษา จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

 

 

สาเหตุการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร และปัจจัยเสี่ยง

 

สาเหตุที่สำคัญและพบได้บ่อยของการเกิดแผลเป็ปติก มี 2 สาเหตุ ได้แก่

 

1. การติดเชื้อ H. Pylori : เชื้อ Helicobacter Pylori เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่สามารถอาศัยอยู่ในผิวกระเพาะแม้สภาวะที่มีกรดสูง หากมีการติดเชื้อชนิดนี้ จะทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร เป็นรอยถลอก (erosion) หรือเป็นแผล (gastric or duodenal ulcer) บริเวณกระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้เล็กส่วนต้น และอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในที่สุด
 

2. การใช้ยาต้านเกร็ดเลือด หรือ การแก้ปวด แก้อักเสบ กลุ่มNSAIDs : ยาทั้งสองกลุ่มนี้ มีฤทธิ์ทำให้ผิวกระเพาะผลิตชั้นเมือกลดลง มีผลทำให้กรดในกระเพาะอาหารสามารถทำลายผิวกระเพาะ ได้ง่ายขึ้น จึงเป็นเหตุให้เกิดแผลมากขึ้น
 

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ซึ่งพบได้น้อย แต่มีความสำคัญ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหาร โรคที่มีการสร้างกรดมากผิดปกติ เป็นต้น

 

ปัจจัยร่วมที่อาจเป็นสาเหตุให้รอยแผลที่มีอยู่เดิม เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น ได้แก่ การใช้ยาต้านเกร็ดเลือด การใช้ยาละลายลิ่มเลือด การใช้ยา NSAIDs ในขนาดที่สูง หรือ พร้อมกันหลายตัว การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ผู้ป่วยมีอายุมาก การกินแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ เป็นต้น

 

 

อาการของโรคแผลในกระเพาะอาหาร
 

  • ปวดแสบ จุกเสียด แน่นท้อง บริเวณลิ้นปี่ หรือ บริเวณท้องด้านซ้าย
     
  • อาหารไม่ย่อย อิ่มเร็ว อึดอัดหลังทางอาหาร
     
  • คลื่นไส้ อาเจียน
     
  • ถ่ายเป็นสีดำ หรือ เลือดสด อาเจียนออกเป็นสีดำ หรือ สีแดง
     
  • อาการจากภาวะโลหิตจาง ได้แก่ หน้ามืด เวียนหัว เหนื่อยง่าย เพลีย ไม่มีแรง
     
  • น้ำหนักลด ทานได้น้อยลง

 

 

การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคแผลในกระเพาะอาหาร

 

โรคแผลในกระเพาะอาหาร สามารถให้การวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น และสามารถตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าเป็นแผลชนิดไม่ใช่มะเร็ง นอกจากนี้ยังมีความจำเป็น ที่ต้องตรวจการติดเชื้อ H. pylori ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของแผลเป็ปติกด้วย

 

 

การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร

 

โรคนี้รักษาด้วยยาลดกรดเป็นหลัก โดยหากเป็นแผลที่กระเพาะอาหาร จะให้ยาลดกรดนานอย่างน้อย 8-12 สัปดาห์ และจำเป็นต้องส่องกล้องติดตามเพื่อดูว่าแผลหายจริงหลังรักษา สำหรับแผลในลำไส้เล็ก รักษาง่ายกว่า โดยการกินยาลดกรดติดต่อกัน นาน 4-8 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องส่องกล้องซ้ำ หากไม่ใช่แผลที่มีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย

หากมีการติดเชื้อ H. pylori ร่วมด้วย จำเป็นต้องรักษาด้วยยาเฉพาะที่สั่งโดยแพทย์ทางเดินอาหาร ซึ่งทั่วไปจะประกอบด้วย ยาลดกรดขนาดสูง และยาปฏิชีวนะอีก 2-3 ชนิด กินติดต่อกัน ประมาณ / สัปดาห์ หลังจากนั้นจำเป็นต้องได้รับการตรวจเชื้อซ้ำ เพื่อยืนยันการกำจัดเชื้อ H. Pylori

หากแผลเกิดจากการกินยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs ควรหยุดกินยากลุ่ม NSAIDs แต่หากมีความจำเป็นต้องกินยากลุ่มนี้โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องกินยาลดกรดควบคู่ไปด้วยทุกครั้ง เพื่อลดโอกาสการเกิดแผล และผลแทรกซ้อนจากแผลในทางเดินอาหาร

 

 

การป้องกันโรคแผลในกระเพาะอาหาร ที่ทุกคนก็ทำได้

 

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs หากไม่มีข้อบ่งชี้ และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา
     
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาชุด ยาต้ม ยาหม้อ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบที่ไม่มีฉลาก หรือชื่อยาที่ชัดเจน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
     
  • หากมีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มต้านเกร็ดเลือด จำเป็นต้องได้รับยาลดกรดทานควบคู่กัน และปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพื่อประเมินความจำเป็น และ ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
     
  • รับประทานอาหารที่สุก สะอาด ใช้ช้อนกลาง
     
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่
     
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารเผ็ด รสจัด

 

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.จิตราภา แสนโภชน์

แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร