เชื้อแบคทีเรีย H. Pylori กับโรคของกระเพาะอาหาร

เชื้อ Helicobacter Pylori หรือ H. Pylori คือ แบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร หรือ แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น ที่สำคัญพบว่าการติดเชื้อตัวนี้เป็นระยะเวลายาวนาน อาจนำไปสู่มะเร็งกระเพาะอาหารได้ในที่สุด การติดเชื้อH. Pyloriพบได้ทั่วโลก แต่จะพบได้มากในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาที่มีสุขอนามัยไม่ดีนัก โดยในประเทศไทยพบว่า มีคนที่ติดเชื้อนี้ประมาณ 40% ของประชากร

 

เชื้อ H. Pylori สามารถติดต่อด้วยการรับเชื้อเข้าปาก โดยอาจเป็นการได้รับเชื้อผ่านการรับประทานอาหาร หรือน้ำ ที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อนอยู่ หรือการรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้ที่ติดเชื้อ ดังนั้นจึงมักจะพบว่า มีการติดต่อของเชื้อนี้ภายในครอบครัวเดียวกัน หรือ ผู้ที่รับประทานอาหารด้วยกันบ่อยๆ

 

หากติดเชื้อ H. Pylori จะมีอาการอย่างไรบ้าง ส่วนใหญ่คนที่ติดเชื้อนี้มักจะไม่มีอาการ แต่หากมีอาการจะเป็นอาการของกระเพาะอาหารอักเสบ หรือเป็นแผล ได้แก่

 

  • ปวดแสบ จุกเสียด บริเวณลิ้นปี่ หรือ ใต้ชายโครงซ้าย
     
  • คลื่นไส้ หรือ อาเจียน
     
  • ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แน่นท้อง
     
  • เบื่ออาหาร อาจมีน้ำหนักลดร่วมด้วยได้
     
  • เรอบ่อย ลมเยอะ
     
  • ตรวจพบโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หรือจากการเสียเลือดในทางเดินอาหาร
     
  • ถ่ายดำ หรือถ่ายเป็นเลือด หากมีเลือดออกทางเดินอาหารจากแผลในทางเดินอาหารร่วมด้วย

 

 

จะตรวจเชื้อ H. Pylori ได้อย่างไร

 

การตรวจเชื้อ H. Pylori มีหลายวิธี ได้แก่ การตรวจลมหายใจ (urea breath test หรือ UBT) การตรวจอุจจาระ การตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อ วิธีเหล่านี้จะสามารถบอกว่ามีเชื้อในตัวหรือไม่ แต่ไม่สามารถให้ข้อมูลด้านอื่น โดยเฉพาะ การประเมินความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ

หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือมีอาการที่อาจบ่งถึงภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ ได้แก่ กระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือสงสัยว่ามีการติดเชื้อที่ดื้อยา ควรได้รับการตรวจโดยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (gastroscopy หรือ EGD) พร้อมกับตรวจเชื้อ H. Pylori ในระหว่างการส่องกล้องไปพร้อมกัน เพื่อจะได้ข้อมูลของโรคและภาวะแทรกซ้อนที่ครบถ้วน และสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น

 

ใครบ้างที่ควรตรวจเชื้อ H. Pylori

 

  • ผู้ที่มีอาการเข้าได้กับการติดเชื้อ Pylori
     
  • ผู้ที่มีอาการเข้าได้กับโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือเป็นแผล
     
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
     
  • ผู้ที่อาศัยอยู่กับคนที่ติดเชื้อ Pylori หรือรับประทานอาหารด้วยกันเป็นประจำ

 

 

การรักษาการติดเชื้อ H. Pylori

 

โรคนี้เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยา การรักษาประกอบด้วย ยาปฏิชีวนะ 2 ชนิด และยาลดกรดขนาดสูง ระยะเวลาที่รักษาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยพบว่าหากกินยาได้อย่างถูกต้อง และไม่ขาดยา จะสามารถหายขาดจากโรคได้มากกว่า 90% หลังจากกินยาครบ 2 สัปดาห์ แพทย์จะทำการตรวจเชื้อซ้ำ เพื่อยืนยันว่ากำจัดเชื้อได้หมดจริงหลังรักษา โดยวิธีการตรวจเชื้อซ้ำ อาจเป็นการเก็บลมหายใจ (Urea breath test , UBT) หรือ การเก็บอุจจาระก็ได้ ทั้ง 2 วิธีให้ผลความแม่นยำไม่ต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะนัดตรวจเชื้อซ้ำหลังหยุดยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 4 สัปดาห์ และหยุดยาลดกรดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสการเกิดผลลบลวง (false negative)

 

 

การป้องกันการติดเชื้อ H. Pylori ที่ทุกคนก็ทำได้

 

  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารไม่ถูกสุขอนามัย กินอาหารปรุงสุก และสะอาด
     
  • ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
     
  • ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
     
  • หากพบว่ามีความเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อได้รับการตรวจหาเชื้อ และได้รับการรักษา เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อในครอบครัว

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.จิตราภา แสนโภชน์

แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร