อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
หน้าที่ของไตเกี่ยวข้องกับอาหารอย่างไร หน้าที่ไตที่สัมพันธ์กับสารอาหารในร่างกายได้แก่ การปรับระดับน้ำตาลในเลือด การสังเคราะห์กรดอะมิโนหรือโปรตีนที่ร่างกายต้องการและเก็บโปรตีนไข่ขาวไม่ให้เสียไปกับปัสสาวะ การควบคุมปริมาณน้ำ ความเป็นกรดด่างและสมดุลเกลือแร่ในร่างกายได้แก่ โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และ ฟอสฟอรัส การสังเคราะห์วิตามินดี และ การขับของเสียที่เกิดจากอาหารทิ้งไปในปัสสาวะ
ประโยชน์ของการควบคุมอาหาร
1. เพื่อให้ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการที่ดี โดยไม่ขาดสารอาหารจำเป็น
2. หยุดยั้งหรือชะลอการดำเนินโรค
3. ป้องกันภาวะปริมาณน้ำในร่างกายขาดหรือเกิน
4. ควบคุมสมดุลกรดด่างและเกลือแร่ต่างๆในร่างกายเพื่อให้เซลล์และอวัยวะต่างๆทำงานได้เป็นปกติ
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมักมีโรคประจำตัวอย่างอื่นร่วมด้วยได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ดังนั้นการควบคุมอาหารในโรคไตเรื้อรังต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารสำหรับโรคประจำตัวด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้
การควบคุมอาหารเพื่อชะลอความเสื่อมของโรคประจำตัว
1. โรคเบาหวาน การควบคุมอาหารที่มีรสหวานและจำกัดปริมาณข้าวหรือแป้งตั้งแต่เริ่มเป็นโรค มีส่วนช่วยสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคไตจากเบาหวาน และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยารักษาโรคเบาหวานได้มาก การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงระดับปกติ และน้ำตาลสะสมอยู่ไม่เกิน 6.5 สามารถป้องกันโรคจอตาจากเบาหวาน โรคเส้นประสาทอักเสบจากเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบ ปัจจุบันมียารักษาเบาหวานที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ และโรคไตวายเรื้อรัง หากผู้ป่วยได้รับยารักษาเบาหวานที่มีประสิทธิภาพสูงโดยแพทย์ผู้รักษา จะทำให้ผลการรักษาดีขึ้นกว่าในอดีตมาก
2. โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยควรได้รับโซเดียมในอาหารไม่เกิน 2000 มก.ต่อวัน เทียบเท่ากับเกลือแกงไม่เกิน 1 ช้อนชาหรือ น้ำปลาไม่เกิน 3 ช้อนชาต่อวัน เกลือที่เพิ่มขึ้นในร่างกายจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้น
3. โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยที่มีนิ่วไม่ว่าจะอยู่ที่ไต ท่อไต หรือกระเพาะปัสสาวะ ควรดื่มน้ำมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน ควรจำกัดการบริโภคเกลือโซเดียม แคลเซียม และอาหารโปรตีน ถ้ามีนิ่วชนิดออกซาเลตควรหลีกเลี่ยง ชา โกโก้ ช็อกโกแลต ถั่ว มันเทศ
4. โรคเกาต์ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูงเพื่อควบคุมกรดยูริกในเลือดไม่ให้เกิน 5.5 มก./ ดล.อาหารที่มีพิวรีนสูงได้แก่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก ซุปก้อน ปลาไส้ตัน ถั่วดำ ยอดผัก เห็ด กะปิ เป็นต้น การสะสมของกรดยูริกในเลือดทำให้เกิดนิ่วในไตได้
5. โรคไตเรื้อรัง เมื่ออัตราการกรองของไตเหลือน้อยกว่า 60 มล./นาที ผู้ป่วยควรจำกัดอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ เพราะของเสียที่เกิดจากการย่อยอาหารประเภทโปรตีนจะต้องขับทิ้งทางไต ทำให้ไตส่วนที่เหลืออยู่ต้องทำงานหนักกว่าเดิมเร่งการเสื่อมของไตให้เร็วขึ้น
6. โรคไขมันในเลือดสูง ไขมันคอเลสเตอรอลสูงในเลือดเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดแดงตีบประมาณ 3 เท่าของคนปกติ ทำให้เกิดโรคหัวใจและสมองขาดเลือด ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลตัวเลว ( LDL ) ให้น้อยกว่า 100 มก./ดล. โดยการหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ เช่นข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง เลือกใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอกในการประกอบอาหาร หากควบคุมอาหารแล้วไม่ได้ผลอายุรแพทย์โรคไตอาจพิจารณาสั่งยาลดคอเลสเตอรอลในเลือดกลุ่มสเตติน ( statins ) ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดให้ต่ำกว่า 200 มก./ดล. โดยหลีกเลี่ยงอาหารใส่กะทิ เค้ก และของหวาน
การจำกัดเกลือหรือโซเดียม การรับประทานอาหารที่มีเกลือโซเดียมมากกว่า 2000 มก./วัน มีผลเสียทำให้กระหายน้ำบ่อยและต้องดื่มน้ำมากขึ้น เมื่อร่างกายขับโซเดียมได้น้อยลงก็จะทำให้เกิดอาการบวม น้ำท่วมปอด ความดันโลหิตสูงขึ้น ทำให้เกิดอันตรายได้ ผู้ป่วยควรงดการเติมเกลือ น้ำปลา และซอสในอาหาร งดอาหารหมักดองทุกชนิด เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักกาดดอง รวมถึงอาหารแปรรูปได้แก่ ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง แฮม ปลากระป๋อง และของขบเคี้ยวประเภทซองทุกชนิด
การจำกัดโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ โปรตีนเป็นสารอาหารที่มีอยู่ในเนื้อสัตว์ทุกประเภท ได้แก่ เนื้อวัว หมู เป็ด ไก่ ปลา กบเขียด และ แมลง นอกจากนี้ยังมีในไข่ นม เต้าหู้ ถั่วและ ธัญพืช เช่น เมล็ดแตงโม คอร์นเฟล็กซ์ อย่างไรก็ตามโปรตีนที่ได้จากถั่วและธัญพืชเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพไม่ดี จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะก่อนฟอกเลือดควรได้รับโปรตีน 0.6-0.8 ก./ น้ำหนักตัว 1 กก. และ เสริมด้วยโปรตีนเม็ดทางการแพทย์ที่มีสรรพคุณช่วยชะลอไตเสื่อม ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะฟอกเลือดควรได้รับโปรตีนมากกว่าระยะก่อนฟอกเลือด คือโปรตีน 1-1.5 ก./ น้ำหนักตัว 1 กก. หากมีภาวะขาดสารอาหาร อายุรแพทย์โรคไตที่รักษาสามารถให้สารอาหารเพิ่มขณะฟอกเลิอดเรียกว่า IDPN ( Intradialytic Parenteral Nutrition )
ตัวอย่างการคำณวนปริมาณโปรตีนในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะก่อนฟอกเลือด น้ำหนักตัว 60 กก. อายุรแพทย์โรคไตกำหนดให้จำกัดโปรตีน 0.8 ก./น้ำหนักตัว 1 กก. ปริมาณโปรตีนต่อวันที่ควรได้รับเท่ากับ 0.8*60 = 48 ก. อาหารแต่ละจานในภาพคิดเป็นโปรตีน 1 ส่วน = 7 ก. ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารโปรตีนตามภาพ = 48/7 = 6.85 ส่วนหรือประมาณ 7 ส่วนหรือ 7 จานตามภาพต่อวัน โดยแบ่งอาหารเป็น3 มื้อจะได้เป็นอัตราส่วน 2 : 2 : 3 จาน ตามแต่ผู้ป่วยจะเลือกรับประทาน เช่น มื้อเช้าเลือกปลาทู 2 จาน มื้อกลางวันเลือก กุ้งสุก 2 จาน ที่เหลือมื้อเย็นเลือก เนื้ออกไก่ 3 จานเป็นต้น
การจำกัดผลไม้และผักต้องทำเมื่อไหร่และอย่างไร
ควรจำกัดผักและผลไม้เมื่อระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ( เกิน5 มิลลิโมลต่อลิตร ) ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ทราบ ทั้งนี้ระดับโพแทสเซียมที่สูงมากในเลือดจะมีผลต่อการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดอาการหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะและหยุดเต้นได้ ถ้าผู้ป่วยรับประทานผักและผลไม้เยอะและมีอาการใจสั่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ควรพบแพทย์ด่วนเพื่อตรวจเลือดวัดระดับโพแทสเซียมเพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที หากจำเป็นอายุรแพทย์โรคไตอาจพิจารณาฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วย ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง มักจะมีรสชาติหวานจัด หรือเปรี้ยวจัด เนื้อแน่นและนิ่ม หรือมีสีสวยสดเช่น มะม่วงสุก ทุเรียน มะละกอ กล้วยหอม ลูกพลับ ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมไม่สูงมาก ( เมื่อเทียบน้ำหนักเท่ากัน ) ได้แก่ แอปเปิ้ลเขียว องุ่นเขียว แตงโม ผลไม้แห้งจะมีความเข้มข้นโพแทสเซียมสูง ได้แก่ ลูกเกด ลูกพรุน ผลไม้แช่อิ่ม ผักที่มีสีสวยสด และพืชหัว จะได้ปุ๋ยโพแทสเซียมเร่งสีเร่งผลจึงมีโพแทสเซียมสูง เช่นผักกาดเขียว คะน้า บร็อคโคลี่ แครอท หัวมัน และ เผือก ผักที่มีโพแทสเซียมไม่มากเช่น ผักกาดขาว บวบ น้ำเต้า แตงกวา หรือลูกฟักเป็นต้น
การจำกัดอาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมักมีระดับแคลเซียม และ ฟอสฟอรัสในเลือดสูง หากร่างกายมีฟอสฟอรัสสะสมมากเกินไป จะกระตุ้นให้ระดับพาราธัยรอยด์ฮอร์โมนในเลือดให้สูงขึ้น ซึ่งมีผลเสียกับอวัยวะต่างๆเช่น กระดูกเปราะ หักง่าย ฟอสฟอรัสมีมากในเมล็ดพืช ถั่ว ผลิตภัณฑ์จากนมและเนื้อสัตว์ ไข่แดง กาแฟ งา ช็อกโกแลต เม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นต้น ดังนั้นแพทย์จึงให้ยาจับฟอสฟอรัสในอาหารได้แก่ แคลเซียมคาร์บอเนตหรือ แคลเซียมอะซีเตท ซึ่งต้องรับประทานพร้อมอาหารคำแรก เพื่อช่วยควบคุมให้ระดับฟอสฟอรัสในเลือดต่ำกว่า 5.5 มก./ดล.และระวังไม่ให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงเกิน 10.2 มก./ดล. ผู้ปวยโรคไตเรื้อรังควรได้รับริมาณแคลเซียมที่เหมาะสมจากอาหารหรือแคลเซียมเม็ดเสริมในปริมาณที่พอเหมาะจนระดับแคลเซียมในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ขณะเดียวกันการจำกัดฟอสฟอรัสจากอาหารจะช่วยไม่ให้แคลเซียมในเลือดในเลือดต่ำได้
อาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูงและควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ กาแฟ กาแฟทรีอินวัน ชาผงสำเร็จรูป โกโก้หรือช็อกโกแลต ครีมเทียม โคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง เต้าหู้ ธัญพืช ( เมล็ดแตงโม เมล็ดดอกทานตะวัน ) ถั่วเมล็ด เมล็ดงา ครีมชีส ผงฟูในเบเกอรี่ต่างๆ และอาหารที่มีกระดูกหรือเปลือกเป็นองค์ประกอบ ( แมลงต่างๆ กบเขียด ปลาเล็กปลาน้อย ) เป็นต้น เมื่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควบคุมอาหารประเภทต่างๆแล้ว ควรตรวจเลือดเพื่อวัดระดับ ค่าการทำงานของไต เกลือแร่โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม ฟอสเฟต เพื่อประเมินว่าการควบคุมอาหารได้ผลหรือไม่ หากยังไม่ได้ผลตามเป้าหมายควรปรึกษาอายุรแพทย์โรคไต เพื่อสั่งยาเพิ่มเติม หรือส่งพบนักกำหนดอาหารเพื่อแนะนำอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังโดยละเอียด
ตัวอย่างรายการอาหารโดยนักกำหนดอาหารสำหรับผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมน้ำหนัก 60 กก. ที่ตรวจเลือดพบระดับโพแทสเซียมและ ฟอสฟอรัสในเลือดสูง อาหารแต่ละวันควรให้พลังงาน 1800 Kcal ( เท่ากับ 30 Kcal ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.) โปรตีนประมาณ 1-1.2 ก./น้ำหนักตัว 1 กก.= 69 ก. โพแทสเซียม 1600 มก. ฟอสฟอรัส 899 มก. และ โซเดียม 1557 มก.
สนับสนุนข้อมูลโดย : นายแพทย์ อภิชาติ พนมเริงศักดิ์
อายุรแพทย์โรคไต ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช