การป้องกันและปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง EP 1

เมื่อคนเรามีอายุ 30 ปีขึ้นไป ไตจะเริ่มทำงานลดลงหรือเสื่อมอย่างช้าๆไปตามอายุขัยโดยลดลงเฉลี่ยประมาณ 1 % ต่อปี แต่เมื่อไรก็ตามที่ไตเกิดโรค ไตจะเสื่อมลงเร็วกว่าปกติ ในกรณีที่ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็วหรือหยุดทำงานทันทีเรียกว่า โรคไตวายเฉียบพลัน ซึ่งอาจจะกลับมาเป็นปกติได้ถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสม แต่ถ้าเสื่อมลงอย่างช้าๆต่อเนื่องจะทำให้เกิดความผิดปกติถาวรเรียกว่าโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้  

 

การทำงานของไตมีวิธีวัดโดยง่ายและที่เป็นที่นิยมในทางคลินิกคือการวัดค่าการกรองของไตทางอ้อมโดยใช้สูตรคำนวณจากค่าของเสียครีอะตินินในเลือด หรือ glomerular filtration rate หรือ GFR มีหน่วยเป็น มิลลิลิตรต่อนาที โดยค่าครีอะตินินที่สูงขึ้นหมายถึงของเสียในเลือดสูงขึ้นและสะท้อนให้เห็นว่าการกรองของไตลดลง โดยแบ่งเป็น 

 

  • G1 >/= 90 คือ ปกติหรือสูง  

     
  • G2 60-89 คือลดลงเล็กน้อย 

     
  • G3a 45-59 คือลดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง 

     
  • G3b 30-44 คือลดลงปานกลางถึงมาก

     
  • G4 15-29 คือลดลงมาก และ ระยะสุดท้ายคือ 

     
  • G5 < 15 คือไตวาย

 

สำหรับสาเหตุของโรคไตเรื้อรังที่พบในประเทศไทยเรียงตามลำดับเป็นดังนี้ 

 

1. เบาหวาน 

 

2.ความดันโลหิตสูง 

 

3.โรคไตอักเสบปฐมภูมิและทุติยภูมิ  

 

4.นิ่วในไต   

 

5.เนื้องอกและมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ   

 

6. ยาแผนปัจจุบัน  

 

7.ยาสมุนไพร 

 

8.อื่นๆ  

 

โดยจากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่ามีสมุนไพรหลายชนิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆที่มีความสัมพันธ์กับไตวายฉับพลันและไตเรื้อรังได้แก่ ถั่งเช่า เห็ดหลินจือ ป่าช้าเหงา ( หนานเฉาเหว่ย ) ตรีผลา Lekcapp ยาหมอแสง หญ้าหนวดแมว ผักปั่น ผักชาเขียวดำ สารสกัดกัญชา ยาฆ่าแมลง (Glyphosate) ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร เพชรสังฆาต ปอกระบิ น้ำมันงาอัดเม็ด คอลลาเจนซอง โดยที่อาการจะรุนแรงชัดเจนขึ้นถ้าหน้าที่ไตของผู้ป่วยยิ่งแย่อยู่ก่อนเริ่มใช้สมุนไพร 

 

ดังนั้นผู้ป่วยโรตไตเรื้อรังหรือมีความเสี่ยงโรคไตเรื้อรังพึงจะต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่านทุกครั้งก่อนที่จะใช้สมุนไพรทุกชนิด มิฉะนั้นอาจเกิดไตวายฉับพลันตามมาได้และมีหลายรายถึงขั้นต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมไปตลอดชีวิต   

 

การป้องกันและชะลอการเสื่อมของโรคไตเรื้อรัง 

 

1. ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่แพทย์แนะนำ ไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป ผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน 

 

2. ควบคุมระดับน้ำตาลให้ต่ำกว่า 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรและน้ำตาลเฉลี่ยสะสมอยู่ในเกณฑ์ที่แพทย์แนะนำ ผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน 

 

3. ควบคุมระดับไขมันในเลือด ระดับแอลดีแอลให้น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 

 

4. ถ้ามีโรคข้ออักเสบเก๊าท์ให้ระวังไม่ให้โรคกำเริบและควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้น้อยกว่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 

 

5. งดสูบบุหรี่จะสามารถป้องกันโรคไตเรื้อรังและป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและและสมองขาดเลือดซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นอาจทำให้เกิดไตวายฉับพลันและทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังในที่สุด 

 

6. ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะทำให้เกิดการเผาผลาญในร่างกายสูงขึ้นและทำให้ไตทำงานมากขึ้นทำให้โรคไตเรื้อรังดำเนินโรคแย่ลง 

 

7. หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงและอาหารรสเค็มจัด 

 

8. รับประทานอาหารโปรตีนและเนื้อสัตว์ในสัดส่วนที่เหมาะสม โปรตีนไม่ควรเกิน 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 

 

9. ถ้ามีระดับโปแตสเซียมในเลือดสูงให้ลดบริโภคอาหารที่มีโปแตสเซียมสูงได้แก่ผักและผลไม้เกือบทุกชนิด เนื่องจากระดับโปแตสเซียมที่สูงจะทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงและหัวใจวายเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

 

10. ถ้ามีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงให้ลดบริโภคอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ช็อคโกแลต โกโก้ ไอศกรีม น้ำอัดลม นมและ ถั่วต่างๆ ฟอสฟอรัสในเลือดที่สูงอยู่นานจะจับตัวกับแคลเซียมเกิดเป็นตะกอนหินปูนเกาะตามหลอดเลือดทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงตีบที่หัวใจและหลอดเลือดแดงส่วนปลาย 

 

11. พึงระลึกไว้เสมอว่าโรคไตเรื้อรังเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคยาวนานและมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตทำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 10-20 ต่อปี การตระหนักถึงภาวะแทรกซ้อนและการดำเนินโรคของโรคไตเรื้อรังตลอดจนการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดจะสามารถช่วยลดความทุกข์ทรมานจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆลงได้ 

 

12. ถ้าอัตราการกรองของไตน้อยกว่า 60 มิลลิลิตรต่อนาทีควรพบอายุรแพทย์โรคไตหรืออายุรแพทย์ทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ และควรปรึกษาเพิ่มเติมก่อนที่จะรับการตรวจวินิจฉัยหรือรักษาโดยแพทย์ระบบอื่น หรือผู้ป่วยจะเริ่มการรักษาทางเลือกเช่น แพทย์แผนจีน ยาสมุนไพร และยาบำรุงขนานต่างๆ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจทำให้การทำงานของไตแย่ลงและไม่สามารถฟื้นคืนได้ดังเดิม 

 

13. หากการดำเนินโรคเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยควรตัดสินใจร่วมกับครอบครัวภายใต้คำแนะนำของอายุรแพทย์โรคไตเกี่ยวกับวิธีการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากการไม่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างไตทางช่องท้องอาจเป็นผลดีต่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายบางรายโดยเฉพาะผู้สูงอายุเกิน 75ปีและมีโรคร่วมหลายๆอย่าง 

 

14. เมื่อผู้ป่วยและครอบครัวตัดสินใจเลือกการบำบัดทดแทนไตไม่ว่าโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการล้างไตทางช่องท้อง ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำแพทย์และพยาบาล และหมั่นสังเกตุอาการและอาการแสดงที่ผิดปกติของร่างกายเพื่อรายงานให้แพทย์ทราบและรักษาเพิ่มเติมต่อไป 

 

15. ถ้าไม่มีข้อห้ามสำหรับการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายควรเข้าคิวเพื่อรับการปลูกถ่ายไตเนื่องจากการปลูกถ่ายไตเป็นวิธีบำบัดทดแทนไตที่ดีที่สุดและสามารถยืดอายุขัยของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายออกไปอีก 1-2 เท่าของอายุขัยที่เหลืออยู่ถ้าผู้ป่วยยังฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างไตทางช่องท้องอยู่ เพื่อเพิ่มโอกาสการได้รับการปลูกถ่ายไตผู้ป่วยอาจรับไตบริจาคจากญาติที่ยังมีชีวิต ปัจจุบันทีมแพทย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไตสามารถเลือกไตจากผู้บริจาคที่เหมาะสม และส่งผลกระทบน้อยมากต่อผู้บริจาคไตหลังจากนำไตออกจากร่างกายแล้ว 

 

16. สิ่งสำคัญอีกประการสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ผู้เขียนอยากแนะนำคือการทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง เข้มแข็งเพื่อพร้อมรับมือกับอาการป่วยเรื้อรัง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่อาจจะเกิดตามมา ไม่คิดหมกมุ่นกับปัญหา ควรคิดแก้ปัญหาและคิดหากลวิธีในการปรับพฤติกรรมการกินอาหาร ตลอดจนหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผู้ป่วยหลายรายของผู้เขียนสามารถฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้นาน15-20ปี บางรายได้รับการปลูกถ่ายไตและมีชีวิตต่อมาได้ถึง 20-30 ปีหลังจากเริ่มฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม   

 

 

สนับสนุนข้อมูลโดย นายแพทย์ อภิชาติ พนมเริงศักดิ์ 

อายุรแพทย์โรคไต ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช