เนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์ หนึ่งในปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดภาวะครรภ์เสี่ยงสูง

คงมีหลากหลายคำถาม และความกังวลใจของคุณแม่ เมื่อพบปัญหาเนื้องอกมดลูกในขณะตั้งครรภ์ ? 

 

  • ตรวจพบเนื้องอกมดลูกในขณะตั้งครรภ์ จะอันตราย หรือมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง ?
     
  • ดูแลและสังเกตอาการของเนื้องอกมดลูกในขณะตั้งครรภ์อย่างไร ?
     
  • ผ่าตัดเนื้องอก พร้อมกับผ่าคลอดเลยได้ไหม ?
     
  • มีเนื้องอกมดลูก จะคลอดธรรมชาติได้หรือไม่ ?

 

การดูแลคุณแม่ที่มีเนื้องอกมดลูกในขณะตั้งครรภ์ ควรทำอย่างไร เพื่อการดูแลลูกน้อยในครรภ์อย่างถูกต้อง และ สามารถคลอดได้อย่างปลอดภัย   เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri หรือ Leiomyoma หรือ Uterine fibroid) พบได้ประมาณ 50 % ในผู้หญิง แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติ และไม่เคยตรวจมาก่อน  จึงมักตรวจพบตอนอัลตราซาวด์ในขณะตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสต่างๆ   โดยเฉพาะการอัลตราซาวด์คุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก จะสามารถตรวจพบเนื้องอกมดลูก รวมถึงความผิดปกติอื่นๆ ของปีกมดลูกได้อย่างชัดเจน เช่น ถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ เป็นต้น   

 

 

ตรวจพบเนื้องอกมดลูกในขณะตั้งครรภ์ จะอันตราย หรือมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง ? 

 

เนื้องอกมดลูก จะได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนในระหว่างตั้งครรภ์ โดยก้อนเนื้องอกมีการตอบสนองที่แตกต่างในแต่ละบุคคล ทำให้ก้อนเนื้องอกอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น เล็กลง หรือเท่าเดิมก็ได้ และก้อนเนื้องอกมดลูกในขณะตั้งครรภ์ อาจก่อนให้เกิดอันตราย หรือภาวะแทรกซ้อน ต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดของก้อน, ตำแหน่งของก้อน, จำนวนก้อนเนื้องอกมดลูก ซึ่งอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ ดังนี้ 

 

  • เสี่ยงต่อการแท้ง : เนื่องจากก้อนเนื้องอกส่งผลต่อตำแหน่งของการฝังตัวของตัวอ่อน จึงทำให้เสี่ยงต่อการแท้งมากขึ้น
     
  • คลอดก่อนกำหนด : ก้อนเนื้องอกไปขัดขวางการเจริญเติบโตของมดลูกขณะตั้งครรภ์ หรือทำให้เกิดการบีบตัวอย่างผิดปกติของมดลูก
     
  • รกลอกตัวก่อนกำหนด : หากรกเกาะบริเวณเนื้องอกมดลูกพอดี อาจเสี่ยงต่อภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดได้ จะมีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้อง และทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้
     
  • กีดขวางช่องทางคลอด และ ทารกไม่กลับหัว : หากก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่อยู่ใกล้กับบริเวณส่วนล่างของมดลูก อาจทำให้ทารกไม่กลับหัวและทารกไม่สามารถผ่านช่องทางคลอดออกมาได้
     
  • ทารกโตช้าในครรภ์ : หากรกเกาะในตำแหน่งที่เป็นก้อนเนื้องอกมดลูก จะทำให้การไหลเวียนของเลือดผ่านรกได้ไม่ดี ทำให้ทารกตัวเล็กกว่าเกณฑ์ได้
     
  • ภาวะตกเลือดหลังคลอด : ก้อนเนื้องอกมดลูกจะขัดขวางการหดรัดตัวของมดลูกหลังคลอด ทำให้เกิดการเสียเลือดหลังคลอดได้สูงขึ้น

 

 

ดูแลและสังเกตอาการของเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์อย่างไร ? 

 

เนื้องอกมดลูกในขณะตั้งครรภ์ หากก้อนมีขนาดใหญ่มาก จะทำให้มีอาการปวดมากที่ก้อน  โดยต้องได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ และต้องตรวจวินิจฉัยแยกโรคจากสาเหตุของอาการปวดอื่นๆ ด้วย เช่น ไส้ติ่งอักเสบ กรวยไตอักเสบ นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ   หากมีอาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด  หรือ เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและรกรอกตัวก่อนกำหนด ต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงที และรักษาเพื่อยับยั้งการคลอดและให้ยาเพื่อกระตุ้นปอดทารกในครรภ์   นอกจากนี้แนะนำคุณแม่ฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และการเปลี่ยนแปลงของก้อนเนื้องอกมดลูก 

 

 

 

ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก พร้อมกับผ่าคลอดเลยได้ไหม ?  

 

การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก พร้อมกับผ่าคลอดในครั้งเดียวกัน อาจทำให้เสียเลือดมากกว่าปกติ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อคุณแม่ เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์มดลูกจะมีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น และ​เส้นเลือดในมดลูกจะขยายใหญ่ขึ้น แพทย์จึงไม่แนะนำให้ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก พร้อมกับผ่าคลอด ช่วงหลังคลอด เนื้องอกมดลูกจะยังคงอยู่และอาจมีขนาดเล็กลงได้ การรักษาเนื้องอกมดลูกขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น อายุ ขนาดของเนื้องอก อาการหรือภาวะแทรกซ้อน  หากไม่มีอาการผิดปกติ และขนาดก้อนไม่ใหญ่มาก อาจไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ เพียงแต่คอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของขนาดเนื้องอกเท่านั้น   

 

 

 

มีเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์  คลอดธรรมชาติได้หรือไม่ 

 

ขึ้นกับตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้องอกมดลูก หากก้อนเนื้องอกขนาดเล็ก ไม่กีดขวางช่องทางคลอด คุณแม่อาจสามารถคลอดธรรมชาติได้ปกติ แต่หากก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่อยู่ใกล้กับบริเวณส่วนล่างของมดลูก อาจทำให้ไม่กลับหัวและทารกไม่สามารถผ่านช่องทางคลอดออกมาได้   การเฝ้าสังเกตอาการตนเองและฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด เพื่อติดตามดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และการเปลี่ยนแปลงของก้อนเนื้องอกมดลูกเป็นระยะ จะช่วยป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งแม่และทารกในครรภ์ได้ เพื่อแม่และลูกน้อยที่น่ารักจะได้คลอดออกมาอย่างปลอดภัย   

 

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : นายแพทย์ธิติพันธุ์ น่วมศิริ 

สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) โรงพยาบาล นวเวช