เวียนศีรษะเกิดจากอะไร ?
สาเหตุของอาการเวียนศีรษะที่พบบ่อยๆ
ปัญหาจากหูชั้นใน ในหูของเราทุกคนจะมีระบบประสาทควบคุมการทรงตัว (Vestibular system) โดยจะมีท่อซึ่งมีน้ำอยู่ภายในกับเส้นประสาทเล็กๆ ที่จับการเคลื่อนไหวของน้ำภายในท่อนี้ สัญญาณนี้จะถูกส่งไปที่สมอง เพื่อบอกตำแหน่งของศีรษะของเราทุกครั้งที่เราหันหน้าหรือขยับศีรษะ โดยสัญญาณจากหูทั้ง 2 ข้างจะถูกส่งไปที่สมองเท่าๆ กัน เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ระบบนี้ทำงานไม่สัมพันธ์กัน เราจะเกิดอาการเวียนศีรษะ
โรคของหูชั้นในที่พบได้บ่อย ที่เป็นสาเหตุของการเวียนศีรษะ
- Benign paroxysmal positional vertigo – โรคหินปูนหลุด ตัวการสำคัญก็คือ หินปูน (Calcium) ที่ลอยไปมาอยู่ในท่อน้ำของหูชั้นใน บังเอิญไปเกาะติดกับเส้นประสาททำให้สัญญาณ 2 ข้างส่งไปสมองไม่เท่ากัน
- Meniere disease – เป็นโรคที่เกิดความผิดปรกติของปริมาณน้ำที่อยู่ในท่อของหูชั้นในมากเกินไป เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเวียนศีรษะ ได้ยินเสียงในหู หรือสูญเสียการได้ยินได้
- Vestibular neuritis – เส้นประสาทรับการทรงตัวอักเสบ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส
- การกระทบกระแทกที่ศีรษะ แม้เพียงเล็กน้อยก็ส่งผลไปถึงระบบประสาทการทรงตัวในหูได้
- Vestibular migraine – ในผู้ป่วยที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน บางครั้งจะมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย โดยอาจมีแต่อาการเวียนศีรษะหรือไม่มีอาการปวดศีรษะในรอบนั้นก็ได้
สาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดปรกติจากหูชั้นใน
- ยาบางชนิด ที่พบบ่อย เช่น ยานอนหลับ ยากันชัก เป็นต้น
- ความผิดปรกติของสมอง เช่น เส้นเลือดสมองตีบ แตก
ต้องมาพบแพทย์เมื่อไหร่ ? มาพบแพทย์ทันทีถ้าคุณมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับอาการต่อไปนี้
- มีอาการปวดศีรษะรุนแรงร่วมด้วย
- มีไข้ โดยเฉพาะอุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- ตามองเห็นภาพซ้อน หรือมองภาพมัวๆ
- พูดลำบาก พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง หรือการได้ยินลดลง
- หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก
- ทรงตัวลำบาก เดินเซ
- หมดสติ
- เจ็บ แน่นหน้าอก
- อาเจียนอย่างรุนแรง ในกรณีที่คุณมีอาการเวียนศีรษะเป็นเวลานานพอสมควร (หลายนาที) และถ้าคุณเป็นคนที่มีภาวะเสี่ยงดังต่อไปนี้ ควรมาพบแพทย์
- อายุมากกว่า 60 ปี
- เคยเป็นเส้นเลือดสมองตีบ แตกมาก่อน
- มีความเสี่ยงที่อาจจะเป็นเส้นเลือดสมองตีบ เช่น เบาหวาน สูบบุหรี่ ในกรณีที่ไม่ได้มีความเสี่ยงเหล่านี้ แต่มีอาการบ่อยๆ ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเช่นกัน
ต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมหรือไม่ ?
ในบางกรณีนอกจากการซักประวัติ ตรวจร่างกายของแพทย์แล้ว อาจจะจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจการได้ยินของหู หรือบางรายอาจต้องทำการตรวจ CT scan หรือ MRI สมองร่วมด้วย
ทำการรักษาอย่างไร ?
ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ ถ้าเป็นโรคของหูชั้นใน ก็จะมีการให้ยาลดอาการร่วมกับการขยับศีรษะตามวิธีการของแพทย์ (Epley maneuver) รวมทั้งมีท่าบริหารเพื่อช่วยลดความรุนแรงหรือความถี่ของการเป็นในกรณีที่เป็นสาเหตุจากสมอง แพทย์จะทำการรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ
นอกเหนือจากนี้ถ้าคุณมีอาการเวียนศีรษะบ่อยๆ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการพลัดตกหกล้มได้ การดูแลสภาวะแวดล้อมภายในบ้านก็มีความสำคัญมากเช่นกัน สายไฟหรือสายอะไรก็ตามที่วางบนพื้นบ้านควรจัดเก็บให้เรียบร้อย พรมที่ลื่นๆ ก็ควรเปลี่ยน ถ้าเป็นคนใส่รองเท้าเดินในบ้านก็พยายามใส่รองเท้าที่ไม่ลื่น จัดบ้านให้เป็นระเบียบ อย่าให้มีอะไรขวางทางเดิน ก็มีส่วนช่วยป้องกันการบาดเจ็บรุนแรงได้
คลิก > โปรแกรมตรวจคัดกรองโรคปวดหัวเรื้อรัง