โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคมีเนีย (Meniere’s disease)

เป็นโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นใน โดยมีน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ หูชั้นในของคนเรามีเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวและการได้ยินอยู่โดยปกติจะมีน้ำในหูชั้นในมีปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว และการได้ยินดังกล่าว และมีการไหลเวียนถ่ายเทเป็นปกติ เมื่อมีการเคลื่อนไหวของน้ำในหู ขณะเคลื่อนไหวศีรษะ จะกระตุ้นเซลล์ประสาทดังกล่าวให้มีการส่งสัญญาณไปยังสมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายเมื่อใดก็ตามมีความผิดปกติของการไหลเวียน ของน้ำในหู เช่นการดูดซึมของน้ำในหูไม่ดี ทำให้น้ำในหูชั้นในมีปริมาณมากขึ้นกว่าปกติ (endolymphatic hydrops) จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัว และการได้ยิน ทำให้เซลล์ดังกล่าวทำงานผิดปกติ

 

 

อาการ

 

  • ประสาทหูเสื่อม ผู้ป่วยมีการเสียการได้ยินแบบประสาทเสียงเสีย (sensorineural hearing loss) ทำให้หูอื้อ ได้ยินไม่ชัด รู้สึกแน่นในหูเป็นๆหายๆ บางครั้งการได้ยินดีขึ้น บางครั้งการได้ยินแย่ลง ในระยะแรกเริ่มมักมีการเสียของประสาทหูที่ความถี่ต่ำก่อน แต่ในระยะยาวแล้วระดับการได้ยินจะแย่ลงเรื่อยๆ อาจถึงขั้นหูหนวกได้ ในระยะแรกอาจมีอาการที่หูข้างเดียว ในระยะหลังอาจมีอาการที่หูทั้งสองข้าง อาจมีอาการปวดหู หรือปวดศีรษะข้างที่เป็นร่วมด้วยได้
     
  • มีเสียงดังในหู
     
  • เวียนศีรษะ บ้านหมุน บางครั้งอาจมี คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกร่วมด้วย อาการเวียนดังกล่าวมักเป็นๆหายๆ ส่วนใหญ่มักบ้านหมุนไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่อาจเวียนศรีษะเป็นชั่วโมงได้ เมื่อมีอาการเวียนศีรษะ มักมีอาการหูอื้อ หรือเสียงดังในหูร่วมด้วย อาการเวียนศีรษะเป็นอาการที่รบกวนผู้ป่วยมากที่สุด ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ต้องนอนพัก

 

 

โรคนี้พบมากในคนอายุ 30-60 ปี พบได้ทั้งเพศชายและหญิง ส่วนใหญ่อาการมักจะเริ่มเมื่ออายุ 30 ปี มักเป็นในหูข้างเดียว แต่อาจเป็นทั้งสองหูได้ร้อยละ 30 อาการของโรคนี้มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด อาจมีอาการทุกวัน หรือนานๆครั้งก็ได้ ซึ่งไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดอีกครั้งเมื่อไร แต่ละครั้งที่มีอาการ อาจมีอาการเป็นระยะเวลาสั้นๆเป็นนาที หรือนานเป็นชั่วโมงได้ อาจมีอาการน้อยหรือมากก็ได้    

 

 

 

 

การรักษา

 

ถึงแม้โรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้โรคหายขาด แต่ส่วนใหญ่อาการของผู้ป่วยสามารถควบคุมได้ด้วยยา และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง

 

1. การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเวลาเวียนศีรษะ

 

  •  เมื่อเวียนศีรษะขณะเดิน ควรหยุดเดิน และนั่งพัก เพราะการฝืนเดินขณะเวียนศีรษะ อาจทำให้ผู้ป่วยล้ม เกิดอุบัติเหตุได้ ขณะขับรถหรือทำงานมีอาการเวียนศีรษะ ควรหยุดรถข้างทาง หรือหยุดการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าเวียนศรีษะมากควรนอนบนพื้นราบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่นพื้น และ ผู้ป่วยควรมองไปยังวัตถุที่อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ถ้าเวียนศีรษะลดลง ค่อยๆลุกขึ้น แต่อาจรู้สึกง่วง หรือเพลียได้ แนะนำให้นอนหลับพักผ่อน ถ้าง่วง หลังตื่นนอน อาการมักจะดีขึ้น
     
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยทางเรือ เพราะจะทำให้มีอาการเวียนศีรษะมากขึ้นได้
     
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน (ชา, กาแฟ และน้ำอัดลม) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และความเครียด เนื่องจากทำให้อาการแย่ลง เนื่องจากจะไปลดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน
     
  • ไม่ควรกินเค็ม เพราะเกลือโซเดียมที่มีปริมาณมากขึ้นในร่างกาย จะทำให้มีน้ำคั่งในร่างกาย และในหูชั้นในมากขึ้น อาจทำให้อาการแย่ลงได้

 

2. รักษาด้วยยา

 

2.1 การรับประทานยา

 

  • ยาขยายหลอดเลือด (ฮิสตะมีน) จะช่วยให้การไหลเวียนของน้ำในหูชั้นในดีขึ้น
     
  • ยาขับปัสสาวะ อาจทำให้น้ำคั่งในหูชั้นในน้อยลง ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้นได้
     
  • ยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้ อาเจียน

 

2.2 การฉีดยาเข้าไปในหูชั้นกลาง เพื่อให้ดูดซึมเข้าไปในหูชั้นใน ยาที่ฉีดเช่น gentamycin เป็นยาที่มีพิษต่อระบบประสาทหูและการทรงตัว ทำให้อาการเวียนศีรษะน้อยลง แต่การได้ยินอาจเสียไปด้วย

 

 

3. การผ่าตัด เพื่อระบายน้ำที่คั่งอยู่ในหูชั้นใน จะผ่าตัดในกรณีที่ให้ยารักษาเต็มที่แล้ว อาการเวียนศีรษะไม่ดีขึ้น และรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมาก

 

 

 

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.สุเมธ เฟื่องกำลูน
แพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก  ศูนย์ หู คอ จมูก