เด็กนอนกรนจากต่อมทอนซิล (Tonsil) และต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid)
เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักอาการต่อมทอนซิลในเด็ก โดยเด็กมีไข้ มีน้ำมูก เจ็บคอ คุณพ่อคุณแม่มักจะถามว่า แล้วเป็นทอนซิลอักเสบมั้ย? ซึ่งผู้ร้ายตัวจริง คือเชื้อไวรัสที่ก่อโรคแต่ทอนซิลเป็นแพะรับบาป เพราะเมื่อตรวจพบทอนซิลโตร่วมกับคอแดง มักจะได้รับการวินิจฉัยว่าลูกเป็น “ต่อมทอนซิลอักเสบ” อันที่จริงทั้งทอนซิลและคอหอย ก็จะแดงเวลาติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจส่วนบนอยู่แล้ว ซึ่งต่อมทอนซิลก็คือ ต่อมน้ำเหลือง ต่อมหนึ่งของร่างกาย ตั้งอยู่ 2 ข้าง บริเวณใกล้ ๆ กับโคนลิ้น ทั้งนี้บทความให้ความรู้โดย พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี (ว.34486) กุมารแพทย์เฉพาะทาง โรคทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช ได้เขียนอธิบายให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ สาเหตุ ของเด็กนอนกรนจากต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่นำไปสังเกตลูกน้อยจะได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ต่อมน้ำเหลืองคืออะไร? ต่อมน้ำเหลือง เป็นที่อยู่ของเม็ดเลือดขาว โดยเจ้าเม็ดเลือดขาวทำหน้าที่เหมือนทหารในร่างกาย เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 ปีนั้น จะติดเชื้อได้ง่ายเพราะเซลล์ภูมิคุ้มกันก็เปรียบเสมือนทหาร ถ้าเจอศัตรูครั้งแรกก็ยังไม่เก่งดังนั้นจึงต้องเอาทหารจำนวนมากเข้าสู้ เราก็ต้องสร้างทหาร (เซลล์ภูมิคุ้มกัน) จำนวนให้มาก ๆ บ้าน (ต่อมน้ำเหลือง) ก็ต้องใหญ่ตามจำนวนเซลล์ที่มาก เพราะฉะนั้นในเด็กอายุ 2-6 ปี ก็จะมีภาวะต่อมน้ำเหลืองโตได้อยู่แล้ว (lymphoid hyperplasia) พอเด็กโตขึ้นพบเจอเชื้อโรคมามาก ภูมิคุ้มกันทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นในเด็กโต ต่อมน้ำเหลืองก็จะไม่ต้องมีขนาดใหญ่ เพราะทหารเก่งขึ้น ก็ใช้ทหารน้อยลง
ต่อมน้ำเหลืองในร่างกายเรากระจายอยู่ทั่วร่างกาย แต่ต่อมทอนซิลอยู่ในที่ที่มองเห็นได้ และอยู่ในตำแหน่งที่มีการติดเชื้อบ่อยที่สุดในเด็ก คือทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เด็กจำนวนมาก ตรวจพบต่อมทอนซิลโต แม้ว่าตอนนั้นเค้าสบายดีอยู่ก็ตาม พอเจ็บป่วย ทอนซิลที่โตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็จะแดงขึ้น จึงจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ต่อมทอนซิลอักเสบ
ซึ่งจริง ๆ สาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบในเด็กเล็ก คือไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัด แต่พอมีคำว่า ต่อมอักเสบ ก็มักจะสร้างความกังวล และจบลงที่ได้รับยาปฏิชีวนะอยู่เสมอ ทำให้เด็ก ๆ ได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น แต่ก็ใช่ว่าต่อมทอนซิลอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะไม่มี แต่มักจะมีอาการเด่น คือเด็กจะไข้สูง เจ็บคอมาก โดยเฉพาะเวลากลืน อาการเหล่านี้จะเป็นเร็ว ไม่มีอาการหวัดนำมาก่อน ไม่มีอาการไอ หรือไอน้อยมาก ตรวจพบหนองที่ต่อมทอนซิล ถ้ามีอาการเช่นนี้ต้องกินยาปฏิชีวนะจนครบ 10 วัน
นอนกรนจากต่อมทอนซิลโต นอกจากต่อมทอนซิลจะเป็นต่อมที่มองเห็นได้ง่าย เป็นที่รู้จักมันยังสร้างปัญหาด้วยการอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งถ้ามีขนาดโตมาก ๆ ก็จะอุดกั้นทางเดินหายใจเวลาเรานอนหลับ กล้ามเนื้อทางเดินหายใจหย่อน ประกอบกับมีต่อมน้ำเหลืองโตขวางทางอากาศ
อาการของเด็กจะนอนกรน เกิดขึ้นเพราะอากาศไหลผ่านที่แคบ ๆ ถ้าต่อมทอนซิลโต ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณใกล้ ๆ กันจะโตด้วย ชื่อว่า ต่อมอะดีนอยด์ ถ้าทั้งสองต่อมโตมากก็เหมือนมีก้อนหินใหญ่ 3 ก้อน ขวางทางเดินอากาศ (ดูรูปประกอบ)
เด็กจะนอนกรนเสียงดัง ในบางคนอาจมีภาวะหยุดหายใจจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น ซึ่งถ้าลูกนอนกรนมาก อ้าปากหายใจ และมีจังหวะสะดุดตอนหลับ แนะนำให้พาลูกไปปรึกษากุมารแพทย์โรคทางเดินหายใจ เพื่อประเมินความรุนแรง และวางแผนการรักษาต่อไป
- เด็กที่เป็นภูมิแพ้จะมีต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โตได้บ่อยกว่า เด็กที่มีภาวะภูมิแพ้จมูก มีต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โตได้ มากกว่า เด็กที่ไม่มีภาวะภูมิแพ้ เพราะเด็กที่เป็นภูมิแพ้จมูก มักจะมีอาการเยื่อบุจมูกอักเสบ คัดจมูกและหายใจลำบาก เด็กจะนอนอ้าปากหายใจ ซึ่งการหายใจทางปากนั้น จะทำให้อากาศที่หายใจเข้าไปไม่ได้กรองฝุ่นละอองได้ดีเท่ากับจมูก จึงมีต่อมทอนซินและอะดีนอยด์ที่โตได้ง่ายกว่า
- เมื่อไหร่ควรตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์
- ถ้าการกรนนั้น ทำให้มีภาวะหยุดหายใจ เกิดจากต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โต และไม่ตอบสนองกับการใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก จะเป็นข้อบ่งชี้ในการตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์
- หรือมีการติดเชื้อที่ต่อมทอนซิลบ่อยมาก (ความถี่ไม่ได้ระบุชัดเจน) แต่มีการศึกษาว่าไม่ได้ทำให้การติดเชื้อลดลงชัดเจน
- การตัดต่อมทอนซิลมีผลเสียหรือไม่ ต่อมทอนซิลเป็นต่อมน้ำเหลือง 2 ต่อม ในหลายร้อยต่อม การตัดออกไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง แต่การผ่าตัดทุกชนิดมีความเสี่ยง ดังนั้นต้องชั่งใจระหว่างประโยชน์ที่จะได้ กับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดในการผ่าตัด ซึ่งต้องตัดสินใจร่วมกัน ระหว่างผู้ปกครองและแพทย์ผู้รักษา
กรณีหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 1507 Line: @navavej