ยาและวิตามินที่ช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยระหว่างเดินทางไกล

สายท่องเที่ยวเดินทางบ่อย มาดูกันว่าจะต้องเตรียมยาอะไรบ้าง เพื่อเตรียมความพร้อม และจะรับมือกับความเจ็บป่วยให้พร้อมลุยไปทุกที่อย่างไร้กังวลกับการเดินทางไกลที่ไม่คุ้นเคยที่จะทำให้ทริปการเดินทางของคุณนั้นยังเต็มไปด้วยความสนุก และราบรื่น

 

วิตามินที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวิตามิน หรืออาหารเสริมเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมรับมือกับความท้าทายระหว่างการเดินทางอย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของวิตามินขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่นการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนที่เพียงพอ รวมถึงการเริ่มรับประทานวิตามินล่วงหน้าก่อนการเดินทางอย่างน้อย 1-2 เดือนเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

 

1. วิตามินซี ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงจากหวัดหรือโรคภูมิแพ้ที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การรับประทาน 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ก่อนและระหว่างการเดินทางเพื่อลดโอกาสการเจ็บป่วย

2. วิตามินดี ส่วนใหญ่มาจากการได้รับแสงแดด พบว่าคนไทยมากกว่า 70% ขาดวิตามินดีซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างความแข็งแรงของกระดูก การส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ปริมาณที่แนะนำคือ600-800 IU ต่อวัน ขึ้นอยู่กับอายุและโรคประจำตัว

3. ซิงก์ (Zinc) มีบทบาทสำคัญในการบำรุงระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยลดระยะเวลาของอาการเจ็บป่วย

 

ยาที่ควรมีติดตัว

 

1. ยารักษาโรคประจำตัว

 

  • สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ยารักษาโรคประจำตัว เช่น ยาโรคหัวใจ ยาความดันโลหิตสูง ยาเบาหวาน หรือยารักษาโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง

 

2. ยารักษาอาการทั่วไป

  • ยาแก้แพ้ การเดินทางอาจทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น น้ำมูกไหลหรืออาการคัน ยาแก้แพ้ เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) หรือเซทิริซีน (Cetirizine) สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ หรือปัจจุบันมีตัวยา Fexofenadine ที่สามารถรักษาได้ผลดี และไม่มีอาการง่วงซึมเป็นผลข้างเคียง

  • ยาลดไข้และแก้ปวด ยาพาราเซตามอลเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับการลดไข้หรือบรรเทาอาการปวดศีรษะจากสาเหตุต่างๆ หรือล้าเกินไป

  • ยาแก้ท้องเสีย หากคุณต้องเผชิญกับอาหารที่ไม่คุ้นเคย การพกยาแก้ท้องเสีย หรือการจิบเกลือแร่ จะช่วยบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็วอย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้รับประทานโลเพอราไมด์ (Loperamide) เนื่องจากยาจะลดการหดตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ หากสาเหตุจาการท้องเสียเกิดจากเชื้อโรค จะทำให้เชื้อหรือพิษที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียอยู่ในร่างกายนานขึ้นด้วยและมีโอกาสติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น ยาที่แนะนำจะเป็น ผงเกลือแร่ ORS ทดแทนสารน้ำและเกลือแร่ที่ขาดไป นอกจากนี้ยาแก้อาเจียนดอมเพอริโดน (Domperidone)ก็เป็นตัวเลือกที่ดี

  • ยาแก้เมารถ/เมาเรือ Dimenhydrinate (ไดเมนไฮดริเนต)โดยต้องรับประทานก่อนเดินทาง 30 นาทีส่วนยาดมและยาหม่องช่วยบรรเทาอาการเวียนหัวจากการเดินทาง

  • ยานวดช่วยลดอาการปวดเมื่อยจากการนั่งหรือยืนนานและคาลาไมน์ (Calamine Lotion) เป็นยาทาบรรเทาอาการระคายเคืองของผิวหนัง

 

3.อุปกรณ์ และยาทั่วไป

  • สเปรย์กันยุง ครีมกันแดด

  • อุปกรณ์ปฐมพยาบาล เช่น พลาสเตอร์ และเบตาดีน

 

เคล็ดลับเพิ่มเติม

  • ศึกษาข้อมูลการนำยาเข้าประเทศปลายทาง ยาแก้ปวดบางประเภท เช่น ยาแก้ปวด หรือยาควบคุม อาจมีข้อห้ามในบางประเทศ และควรขอใบรับรองแพทย์บอกรายละเอียดการใช้ยาเนื่องจากในบางประเทศจำเป็นต้องใช้

  • การดื่มน้ำให้เพียงพอ ขณะท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อเดินทางควรพกน้ำติดตัวเสมอ และพยายามดื่มน้ำเป็นระยะ ๆ แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำ และควรระวังการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้

  • ประกันการเดินทาง สิ่งสำคัญที่ช่วยคุ้มครองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขณะเดินทาง

  • ดูแลสุขภาพโดยรวม แม้วิตามินจะช่วยเสริมสุขภาพ แต่วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันอาการเจ็บป่วยคือ การพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและการศึกษาข้อมูลสถานที่ปลายทางร่วมด้วย

 

สนับสนุนข้อมูลโดย: นพ.วีรยุทธ ตะโนรี ว.40915 การอบรมหลักสูตรอาชีวเวชศาสตร์พื้นฐาน