พาลูกเที่ยวอย่างไร....ให้ปลอดภัยไร้โรค

วันเด็กแห่งชาติและวันตรุษจีนกำลังจะมาถึงนี้ หลายครอบครัวอาจจะเริ่มวางแผนพาเด็ก ๆ เที่ยวกันอยู่แน่ ๆเลย การเดินทางไปเที่ยวไม่ว่าจะใกล้ ๆ หรือการไปต่างจังหวัด แม้กระทั่งไปต่างประเทศ คุณพ่อคุณแม่ย่อมมีความกังวลทั้งการเตรียมตัว การเตรียมสิ่งของที่มีความจำเป็นสำหรับลูกน้อย ดังนั้นสิ่งที่จะต้องเตรียมมีอะไรบ้าง เพื่อให้การพาลูกเที่ยวกับครอบครัว ปลอดภัยไร้โรค บทความให้ความรู้โดย พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ (ว 34129) กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ นำไปสู่การเตรียมตัวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และสุขภาพใจที่มีความพร้อม จะทำให้เราเที่ยวได้สนุกมากยิ่งขึ้น

 

การเตรียมสุขภาพ การเตรียมร่างกาย คือสิ่งสำคัญที่สุดของการไปเที่ยว

 

  • แนะนำให้เริ่มการเดินทางได้หลังเด็กอายุ 1 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มรู้เรื่อง และได้รับวัคซีนป้องกันโรคอย่างครบถ้วนเหมาะสมบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัคซีนไอพีดี ป้องกันปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ รวมถึงวัคซีนป้องกันโควิด เป็นต้น

  • การเดินทาง

    1. การเดินทางด้วยรถยนต์ นอกจากการตรวจเช็คสภาพยานพาหนะแล้ว เด็กจำเป็นต้องนั่ง Car seat เพื่อความปลอดภัยสูงสุด การเดินทางที่ต้องใช้เวลานาน ๆ หากมีการแวะพักระหว่างทางได้ จะช่วยลดความเหนื่อยล้า ทั้งของคุณพ่อคุณแม่ และลูกน้อยได้

    2. การเดินทางด้วยเครื่องบิน โดยเฉพาะแบบ Long Flight ควรเลือกเวลาเดินทางที่ครอบคลุมช่วงเวลาการนอนของลูกน้อย เพื่อให้เด็กและคุณพ่อคุณแม่ ได้รับการพักผ่อนไปพร้อม ๆ กัน  (อาจพิจารณาการใช้ยาหยอดหรือยาน้ำที่ช่วยลดอาการคัดแน่นจมูก แน่นหูได้ในการเดินทางด้วยเครื่องบิน)

    หากมีสมาชิกในครอบครัวสงสัยว่ามีความเจ็บป่วยไม่สบาย ควรไปพบแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างเหมาะ และคำแนะนำเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติ ข้อควรระวังของการเดินทางเพิ่มเติม

 

การเตรียมความพร้อมของลูก และผู้ปกครอง

 

  • ตรวจสอบสภาพอากาศของสถานีปลายทางที่จะไป เพื่อให้แน่ใจว่าจะมี ฝนตกฟ้าคะนอง อากาศร้อน หรืออากาศหนาว จะได้เตรียมเสื้อผ้าของคุณพ่อคุณแม่ และลูกน้อยให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ในปัจจุบันมีลักษณะเสื้อผ้าเด็กที่สามารถใส่ได้ในทุกสภาพอากาศ ทั้งควบคุมอุณหภูมิและระบายอากาศลดความอับชื้นไปได้พร้อม ๆ กันได้ ซึ่งเหมาะสมสำหรับการใส่เดินทางในทุกโอกาส

    ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็ก โดยเฉพาะเด็กทารก ไปในสถานที่แออัดหรือสถานที่ที่มีฝุ่นเยอะ ๆ ดังนั้นจึงควรเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่แออัด ผู้คนไม่เยอะ เน้นที่ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี หรือสถานที่กลางแจ้ง

  • หากการไปเที่ยวของเราเป็นสถานที่กลางแจ้งที่มีทุ่งหญ้า สวนดอกไม้ หรือป่าเขา น้ำตก อาจจะมีเรื่องของแมลงรบกวน แมลงสัตว์กัดต่อย ผึ่ง ต่อ แตน มด ไปจนถึงยุง ซึ่งอาจทั้งก่อความรำคาญ และทำให้เกิดอาการแพ้ อาการแพ้รุนแรงได้ พึงควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

  • แนะนำให้มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี สำหรับเด็ก ๆ มักจะได้รับการตรวจสุขภาพและพัฒนาการไปควบคู่กับการรับวัคซีนเป็นประจำอยู่แล้ว ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจ และอาจขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความพร้อมในการเดินทางของลูกจากกุมารแพทย์ได้ด้วย

 

การเตรียมอาหาร อาหารว่าง น้ำ และยารักษาโรค ตามความเหมาะสม

 

  • ในเด็กทารก ที่กินนมแม่ กินนมเป็นหลักนั้น ต้องพกพาอุปกรณ์เก็บนม และภาชนะที่สะอาดพกพาได้ง่าย อาจต้องเตรียมนมมากกว่าปกติ เผื่อฉุกเฉินไว้ด้วย

  • สำหรับเด็กที่มีประวัติการแพ้อาหาร อาจจำเป็นต้องพกพาอาหาร อาหารสำเร็จรูป หรือ เครื่องปรุงติดตัวไปเอง

  • หากจำเป็นต้องรับประทานอาหารนอกสถานที่ ควรเลือกร้านอาหารที่สะอาด ถูกสุขอนามัย (ในปัจจุบัน ร้านอาหารหลายร้าน มีเมนูอาหารแจ้งรายการอาหารที่แพ้) 

  • ในเด็กเล็ก หากสามารถลดความเสี่ยงเรื่องการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นได้ เช่น การพกกระติกน้ำ ช้อนส้อม ส่วนตัว ได้จะดีที่สุด 

  • ยารักษาโรคกลุ่มยาสามัญ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ น้ำเกลือล้างจมูก ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ยาทาภายนอก และยารักษาโรคประจำตัว จำเป็นต้องพกพาในการเดินทาง

 

คำแนะนำจากคุณหมอ

 

1. ก่อนออกจากบ้าน เตรียมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ

2. เขียนเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลการติดต่อผู้ปกครอง ใส่ไว้กระเป๋าเสื้อหรือติดไว้กับเสื้อผ้าของเด็ก ในกรณีสุดวิสัย ที่เกิดเหตุพลัดหลงกันขณะเที่ยวงาน เจ้าหน้าที่หรือผู้พบเจอ เด็กจะได้ ติดต่อผู้ปกครองได้

3. ขณะไปเที่ยว แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ระวังไม่ให้เด็ก หยิบจับของตามพื้นที่ต่าง ๆ แล้วใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก เพราะมือเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรค หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น การดื่มนํ้าแก้วเดียวกัน การรับประทานอาหาร โดยไม่ใช้ช้อนกลาง ดังนั้นจึงควรพกกระติกน้ำส่วนตัวของเด็กทุกครั้ง

4. ทุกคนควรล้างมือบ่อย ๆ ก่อนและหลังกินอาหาร ด้วยนํ้าและสบู่ อาจพกเจลแอลกอฮอลล์ หรือสเปรย์ทำหสความสะอาดมือติดตัวไปด้วยทุกครั้ง

5. จูงลูกไว้ตลอดเวลา เมื่อไปในสถานที่ที่มีคนหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า หรือแหล่งท่องเที่ยวให้ลูกใส่เสื้อผ้า ง่าย ๆ สบาย ๆ อย่าให้ใส่เครื่องประดับ หรืออย่าถือของมีค่า เช่น โทรศัพท์หรือไอแพด

6. เมื่อกลับถึงบ้านหรือที่พัก ควรอาบนํ้า และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เพื่อสุขอนามัยที่ดีของทุกคนในครอบครัว

 

สุดท้าย...หมอขอให้ ทุก ๆ ครอบครัวได้มีช่วงเวลาของการท่องเที่ยวที่มีความสุขสนุกสนาน ปลอดภัยเดินโดยมีสวัสดิภาพ และมีความทรงจำดี ๆ ร่วมกันเยอะๆ กับคนในครอบครัวตลอดช่วงวันเด็กแห่งชาติ และวันตรุษจีนนี้ กรณีหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center)   โรงพยาบาลนวเวช โทร. 1507 Line: @navavej