ทำไมไข้หวัดใหญ่ระบาดในฤดูหนาว? สิ่งที่ควรรู้และวิธีป้องกัน
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาวและมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในทุกเพศทุกวัย แต่ทำไมโรคนี้ถึงมักระบาดในช่วงอากาศหนาว และเราจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร การเข้าใจถึงสาเหตุเหล่านี้จะช่วยให้เราป้องกันตัวเองและคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น มาดูกันว่าเบื้องหลังของการระบาดในฤดูหนาวมีอะไรที่เราควรรู้บ้าง พร้อมทั้งวิธีดูแลตัวเองให้ปลอดภัยตลอดฤดูนี้!
ไวรัสไข้หวัดใหญ่คืออะไร และมีกี่ประเภท ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่สามารถแพร่เชื้อในระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ โดยไวรัสนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่
1. ไวรัสอินฟลูเอนซาประเภท A เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นสาเหตุหลักของการระบาดใหญ่ (Pandemic) เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 หรือ H3N2
2. ไวรัสอินฟลูเอนซาประเภท B พบในมนุษย์เท่านั้น มักทำให้เกิดการระบาดในวงจำกัด เช่น ในโรงเรียนหรือชุมชน
3. ไวรัสอินฟลูเอนซาประเภท C มักเป็นการติดเชื้อที่แสดงอาการอย่างอ่อน หรือไม่แสดงอาการ และไม่ทำให้เกิดการระบาด พบได้น้อยมากเมื่อเทียบกับประเภท A และ B
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
1. ไวรัสมีความทนทานมากขึ้นในอากาศเย็น ไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ซึ่งสามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิต่ำได้ นานกว่า ทำให้มีโอกาสแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นในช่วงฤดูหนาว
2. การใช้ชีวิตในพื้นที่ปิดร่วมกับผู้ป่วย ในฤดูหนาว คนมักอยู่ในที่ร่มหรือพื้นที่ปิด เช่น บ้าน ออฟฟิศ หรือโรงเรียน ซึ่งเพิ่มโอกาสให้ไวรัสแพร่ระบาด จากคนสู่คนผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อน
3. ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง อากาศเย็นสามารถทำให้ร่างกายของคนบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว มีภูมิคุ้มกันที่ลดลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
4. อากาศแห้งช่วยการแพร่กระจายไวรัส ความชื้นต่ำในฤดูหนาวทำให้อากาศแห้ง ไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ไกลขึ้นผ่านทางระบบหายใจ โดยอาจจะมา จาก ละอองฝอยจากน้ำมูก, น้ำลายของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัส
อาการ ผู้ป่วยมักมีไข้สูงเฉียบพลัน, ไอ, หนาวสั่น, ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, อ่อนเพลีย, เจ็บคอ, มีน้ำมูก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายเองได้ แต่บางกลุ่มจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน และอาการรุนแรง เช่น ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ
แนวทางการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดการติดเชื้อและการแพร่กระจายของโรค โดยสามารถดำเนินการได้ดังนี้
1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ควรรับวัคซีนเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว วัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์ไวรัสที่แพร่ระบาดในปีนั้น ๆ
2. ส่งเสริมสุขอนามัยส่วนบุคคล
- ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหลังสัมผัสวัตถุหรือสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน
- สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในที่แออัด หรือเมื่อมีอาการป่วย
3. ลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่มีอาการป่วย
- งดใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อนส้อม แก้วน้ำ หรือผ้าเช็ดหน้า
4. ดูแลสภาพแวดล้อมให้สะอาด
- ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น ราวบันได โต๊ะ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยน้ำสบู่ น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป
- ควรจัดพื้นที่ให้มีการระบายอากาศดี และหลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานาน
5. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
- พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ
- สำหรับนักเรียนหรือเด็กเล็ก ควรส่งเสริมการพกแก้วน้ำและช้อนส้อมส่วนตัว เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อในโรงเรียน
สนับสนุนข้อมูลโดย: นพ.สุทัศน์ เจียรภัทรกุล ว.28684 แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์ทั่วไป
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธ์ุ