รู้ลึกเรื่อง ‘โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ’ โดยแพทย์หัวใจ รพ.นวเวช พร้อมทางเลือกการรักษาด้วย ‘การจี้ไฟฟ้าหัวใจ’

เมื่อโรคหัวใจกลายเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในทุกช่วงวัย การทำความเข้าใจอาการและแนวทางการรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะ 'โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ' ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

 

เพื่อให้เข้าใจโรคนี้มากขึ้น วันนี้เราจึงได้พูดคุยกับ นพ.วิพัชร พันธวิมล แพทย์อายุรศาสตร์โรคหัวใจ-สรีระวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ประจำศูนย์โรคหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลนวเวช ที่จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ พร้อมแนะนำแนวทางการรักษาโรคด้วยเทคโนโลยี 'การจี้ไฟฟ้าหัวใจ' ที่ช่วยให้ผู้ป่วยบอกลาโรคนี้ได้อย่างมั่นใจ

 

นพ.วิพัชร อธิบายว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) เป็นภาวะที่หัวใจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือ เต้นไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติในระบบไฟฟ้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ใจสั่น หน้ามืด เหนื่อยง่าย หรือในบางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติ หรือเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

 

ส่วนสาเหตุหลักของการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถแบ่งออกเป็นหลายปัจจัย อันดับแรกคือ พันธุกรรมตั้งแต่แรกเกิด ในช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์ โดยปกติแล้วหัวใจจะเริ่มพัฒนาในช่วงอายุครรภ์ 8-12 สัปดาห์ ขณะที่เนื้อเยื่อหัวใจกำลังสมานกัน บางจุดอาจเกิดความผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะตั้งแต่วัยเด็ก โดยอาจตรวจพบได้ตั้งแต่เด็ก หรืออาจมาแสดงอาการเมื่อโตขึ้น

 

สาเหตุต่อมา คือ ปัจจัยจากบริบทแวดล้อม เช่น อายุ เมื่ออายุมากขึ้นจะมีการสะสมของพังผืดในเนื้อเยื่อหัวใจ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้เกิดโรค รวมถึงการเป็นโรคอื่นนอกหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ หลอดเลือดหัวใจตีบ ก็สามารถส่งผลกระทบให้เกิดพังผืดในหัวใจ นำไปสู่การลัดวงจรไฟฟ้าในหัวใจได้

 

อีกสาเหตุสำคัญ คือ สารเสพติดและแอลกอฮอล์ เช่น โคเคน, แอมเฟตามีน, กัญชา, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากบริโภคเป็นระยะเวลานานหรือในปริมาณมาก อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดโรคและนำไปสู่การเกิดลัดวงจรไฟฟ้าหัวใจ

 

นอกจากนี้ ในกลุ่มคนที่ชื่นชอบการออกกำลังกายก็ต้องระวัง โดยเฉพาะการออกกำลังกายหักโหมเกินไป อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ จนกระตุ้นให้เกิด โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation: AF) ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันเริ่มพบในกลุ่มนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายหนักเช่นกัน

 

นพ.วิพัชร ยังกล่าวถึงลักษณะอาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ พร้อมคำแนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตอาการเบื้องต้นว่า อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถแสดงออกได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่หัวใจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ โดยผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ ดังนี้

 

1. หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ อาการที่สังเกตได้ชัด คือ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติแม้จะนั่งอยู่เฉยๆ รู้สึกเหมือนกับอาการ Racing Heartbeat หัวใจเต้นรัวขึ้นอย่างรวดเร็วและหยุดลงกะทันหัน หรืออาจเกิดอาการในช่วงออกกำลังกาย เมื่อหยุดกิจกรรม อัตราการเต้นของหัวใจไม่ลดลงตามปกติ

 

2. หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดหรือคล้ายกับจะหมดสติ ซึ่งโดยปกติแล้วหากเรานั่งอยู่เฉยๆ จะมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ประมาณ 60-70 ครั้งต่อนาที แต่อาการหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ จะมีอัตราการเต้นอยู่ที่ประมาณ 30-40 ครั้งต่อนาที เมื่อร่างกายต้องการให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น แต่หัวใจไม่สามารถตอบสนองได้ จึงทำให้เกิดอาการวูบหรือหมดสติในบางครั้ง

 

3. หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ พบได้บ่อยในกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งอาการจะคล้ายกับว่าหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้า จนรู้สึกถึงความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ ขณะเดียวกันการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง 

 

เนื่องจากการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและสุขภาพโดยรวม ดังนั้น แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมตามความรุนแรงและประเภทของโรค ทั้งการบำบัดรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม การรับประทานยา หรือการรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้า เพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจให้กลับมาสู่ภาวะปกติ ตลอดจนเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยในระยะยาว โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1. รักษาแบบพฤติกรรมบำบัด เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้ป่วยเพื่อช่วยลดอาการและความเสี่ยงของการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิธีนี้ไม่ได้เน้นการใช้ยา แต่เป็นการดูแลสุขภาพโดยรวมและการจัดการปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งสามารถเสริมประสิทธิภาพของการรักษาแบบอื่นๆ ได้ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

 

2. รักษาแบบใช้ยา เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้เพื่อควบคุมและรักษาจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ โดยยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ การรักษาแบบใช้ยามักเป็นการรักษาในระยะยาว และต้องปรับเปลี่ยนยาตามอาการของผู้ป่วยอีกด้วย

 

3. รักษาด้วยแนวทางจี้ไฟฟ้าหัวใจ ผ่านสายสวน (Radiofrequency Ablation) เป็นวิธีการรักษาที่ทำใน 2 กลุ่มอาการ คือ อาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติและหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ

โดยแพทย์จะสอดสายสวนติดขั้วไฟฟ้าผ่านเส้นเลือดเข้าไปยังหัวใจ 

 

หลังจากนั้นแพทย์จะสอดสายสวนพิเศษเข้าไปอีก 1 เส้น เพื่อหาตำแหน่งของความผิดปกติ เมื่อพบจุดที่มีการลัดวงจรไฟฟ้า เช่น ตำแหน่งที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าเร็วกว่าปกติ หรือเจอสารตั้งต้นที่เอื้อให้เกิดการลัดวงจร ซึ่งสารตั้งต้นนี้ต้องทำลายทิ้ง โดยแพทย์จะจี้ทำลายเนื้อเยื่อหัวใจบริเวณนั้นด้วยพลังงานที่เปลี่ยนเป็นความร้อนจากคลื่นวิทยุ โดยเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายจะเป็นเพียงชั้นผิว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อส่วนลึกของหัวใจ

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือมีภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคควรดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน นอกจากนี้การควบคุมอารมณ์และหลีกเลี่ยงความเครียดก็มีความสำคัญในการป้องกันการกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

แต่หากคุณมีอาการหรือประสบกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถเข้ามาตรวจเบื้องต้นที่ศูนย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลนวเวช ซึ่งมีแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจที่มีความชำนาญการและมากประสบการณ์ พร้อมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นได้ว่าจะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ คืนจังหวะชีวิตให้กับหัวใจของคุณได้อย่างมั่นใจ สอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์โรคหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลนวเวช โทร.1507