การเลือกและเตรียมอาหารสำหรับผู้สูงอายุ
“ผู้สูงอายุ” เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะทุพโภชนาการได้ ซึ่งปัญหานี้จะชะลอหรือป้องกันได้จากการดูแลเอาใจใส่เรื่องการรับประทานอาหาร โดยผู้สูงอายุ ควรมีการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทุกวันและควรดูแลด้านปริมาณอาหารและลักษณะของอาหารให้เหมาะสมตามวัย
- เลือกรับประทานอาหารตามฤดูกาล ทำให้ได้รับสารอาหารสูงสุดและไม่มีสารเคมีที่ใช้บังคับให้ออกผลผลิตนอกฤดู ควรเป็นอาหารที่ผู้สูงอายุชอบรับประทาน เพราะจะให้ทำผู้สูงอายุรับประทานได้มากขึ้น
- เลือกอาหารที่มีลักษณะเป็นของเหลว เพื่อให้กลืนง่าย ไม่ติดคอ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เป็นต้น
- เลือกอาหารที่มีเนื้อสัมผัสอ่อนนิ่ม เพื่อให้เคี้ยวและย่อยง่าย เช่น ข้าวนิ่ม ๆ ผักต้มนิ่มๆ รับประทานโปรตีนจากปลา ไข่ เต้าหู้ เป็นต้น
- การเตรียมเนื้อสัตว์ในการปรุงประกอบอาหาร อาหารประเภทเนื้อสัตว์ควรนำไขมันหรือเส้นใยที่เหนียวออกก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร
- ปรับเปลี่ยนลักษณะอาหารให้เหมาะสม ควรใช้การฉีก สับ ปั่น บด หรือ หั่นอาหารเป็นชิ้นเล็ก เพื่อช่วยให้การเคี้ยวและการกลืนง่ายขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก เนื้อสัตว์เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะเหนียว หลีกเลี่ยงอาหารที่เหนียว เคี้ยวลำบาก หรืออาหารที่รับประทานแล้ว จะติดตามซอกฟัน เนื่องจากผู้สูงอายุจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพในช่องปาก
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดเพื่อลดการระคายเคือง หลีกเลี่ยงอาหารที่เผ็ดร้อนจัด รสเค็มจัด รสเปรี้ยวจัดหรืออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เพื่อลดการระคายเคืองในช่องปากและกระเพราอาหาร
สนับสนุนข้อมูลโดย: แผนกโภชนาการ รพ.นวเวช