6 อาหารที่ผู้ป่วยโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยง
1. หลีกเลี่ยง...ไขมันอิ่มตัวสูง
พบมากในหมูสามชั้น หมูกรอบ หนังไก่ เครื่องในสัตว์ มันกุ้ง มันปู ไข่ปู แกงกะทิ อาหารเหล่านี้ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณไขมันเกินความต้องการของร่างกาย เสี่ยงต่อการสะสมของไขมันตามผนังหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบในอนาคต
2. หลีกเลี่ยง...ไขมันทรานส์
เช่น เบเกอรี่ คุกกี้ โดนัท พาย พิซซ่า เบอร์เกอร์ ไอศกรีม ครีมเทียม อาหารเหล่านี้ทำให้ไขมันตัวร้าย (LDL) มากขึ้น และไขมันตัวดี (HDL) ลดลง กระตุ้นให้เกิดภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด เสี่ยงต่อโรคสมองขาดเลือด และโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
3. หลีกเลี่ยง...น้ำตาล
เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ นมปรุงแต่งรสหวาน ขนมหวาน การบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันที่ชื่อว่า "ไตรกลีเซอไรด์" หากร่างกายมีการสะสมไตรกลีเซอไรด์มากจะส่งผลให้เกิดหลอดเลือดตีบ หรืออุดตันได้
4. หลีกเลี่ยง...โซเดียม
พบมากในเครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม เต้าเจี้ยว กะปิ ปลาร้า ผงปรุงรสต่าง ๆ รวมถึงพบในอาหารแปรรูป / อาหารแช่แข็ง / อาหารหมักดอง เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน หมูแผ่น หมูหยอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กผง ผักผลไม้ดอง ไข่เค็ม ขนมขบเคี้ยว
ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด การบริโภคโซเดียมมากเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ ทำให้ความดันโลหิตสูง ส่งผลให้ผนังเส้นเลือดแดงเปราะหรือฉีกขาดง่าย และในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำคั่งในร่างกายจากการบริโภคโซเดียมมากเกินความสามารถในการกำจัดน้ำออก
5. หลีกเลี่ยง...คาเฟอีน
เช่น เครื่องดื่มประเภท ชา กาแฟ น้ำอัดลม เนื่องจากสารคาเฟอีน ทำให้หัวใจบีบตัวแรง หลอดเลือดหดตัว ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ และความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น
6. หลีกเลี่ยง...เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เช่น เบียร์ ไวน์ สุรา การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน จะเพิ่มไขมันไตรกลีเซอไรด์ และส่งผลให้ความดันโลหิตสูง ทำให้การคลายตัวและบีบตัวของหัวใจผิดปกติ เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน จะเพิ่มไขมันไตรกลีเซอไรด์ และส่งผลให้ความดันโลหิตสูง ทำให้การคลายตัวและบีบตัวของหัวใจผิดปกติ เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเหล่านี้...ล้วนส่งผลโดยตรงกับระดับไขมันในเลือด และระดับความดันโลหิต มีผลต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และภาวะหัวใจล้มเหลว แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยยังคงต้องระมัดระวังตัวในการเลือกรับประทานอาหาร ลดการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง โซเดียมสูง ไขมันอิ่มตัวสูง
สนับสนุนข้อมูลโดย: ณิชาภัทร วางขุนทด
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ