การรักษาด้วย Bi-plane DSA เทคนิครังสีร่วมรักษาโรคหลอดเลือดทั่วร่างกาย

รูปแบบการรักษาในแต่ละโรคหลอดเลือดนั้นมีทั้งรูปแบบการผ่าตัด และแบบไม่ผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับบริเวณหรืออวัยวะที่เกิดพยาธิสภาพของโรค อาการระยะเวลาที่เกิดโรค รวมไปถึงความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยแต่ละรายควรได้รับการรักษาแบบใด โดยเทคนิคการรักษารูปแบบไม่ผ่าตัด ทำได้หลายวิธี เช่น การให้ยา การฉีดยาบล็อคเส้นประสาท การฉีดสี การสวนหลอดเลือด เป็นต้น

 

เครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือด Bi-plane DSA มีชื่อเต็มว่า Biplane Digital Subtraction Angiography เป็นเครื่องที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย และรักษา

 

  • โรคหลอดเลือดสมอง

  • ตับ

  • หลอดเลือดแขน ขา

  • หลอดเลือดอื่น ๆ ทั่วร่างกาย

ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกการรักษาโรคได้หลายชนิดแบบไม่ต้องผ่าตัด หรือเรียกว่า รังสีร่วมรักษา (Interventional radiology)

 

จุดเด่นของเครื่อง Bi-plane DSA คือ

 

  • สามารถถ่ายภาพได้ 2 ระนาบพร้อมกัน (ด้านหน้า และด้านข้าง)

  • ภาพที่ได้มีคุณภาพสูง คมชัด สามารถเห็นสายสวนหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กมากได้ชัดเจน โดยให้ภาพเสมือนจริง เป็นภาพ 3 มิติ

  • ช่วยให้เห็นพยาธิสภาพของเส้นเลือดในส่วนต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน และส่งผลให้เพิ่มความแม่นยำในการตรวจรักษายิ่งขึ้น

  • การฉีดสารทึบรังสีครั้งเดียว ทำให้คนไข้ได้รับรังสี และสารทึบรังสีน้อยลง ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น และใช้เวลาน้อยลง สะดวกและรวดเร็ว สำหรับแพทย์ซึ่งช่วยให้การวินิจฉัยอาการของโรค โดยเฉพาะสำหรับโรคที่ต้องอาศัยการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น เป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำ เสริมศักยภาพในการรักษาให้มีประสิทธิภาพ

 

วิธีการรักษาผู้ป่วยโดยการใช้ เครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือด Bi-plane DSA เพื่อส่องให้เห็นพยาธิสภาพภายในร่างกาย หลังจากนั้นก็อาศัยการเห็นจากเครื่องมือเหล่านี้เพื่อเป็นตัวชี้นำให้สามารถนำเครื่องมือเพื่อไปดึงหรือลากลิ่มเลือดในเส้นเลือด มีการใส่บอลลูน ถ่างขยายเส้นเลือด (Acute angioplasty) หรือใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือด (Stent) ไปทำการตรวจหรือรักษาพยาธิสภาพดังกล่าวให้ได้ผลเหมือนกับหรือใกล้เคียงกับการผ่าตัด

 

ทางเลือกในการรักษาด้วยรังสีร่วมรักษาที่ปัจจุบันได้รับความสนใจมากขึ้น โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหลอดเลือด คือ

 

  • พัฒนาเครื่องมือเพื่อไปดึงหรือลากลิ่มเลือดนั้นโดยตรง และสุดท้ายมีการใส่บอลลูน ถ่างขยายหลอดเลือด และหรือใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือด (Stent) แต่อย่างไรก็ตามการรักษาด้านนี้ควรจะเลือกใช้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน ซึ่งไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำได้ หรือผู้ป่วยที่มาเกิน 3 ชม.

  • การรักษาเพื่อขยายหลอดเลือดที่แขน ขา ให้ยาละลายลิ่มเลือดในโรคหลอดเลือดตีบ

  • รักษาภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร อวัยวะในช่องท้อง ตับ ไต ช่วยสลายก้อนเนื้องอกในมดลูก และรักษาโรคมะเร็งบางชนิดที่มีเลือดไปเลี้ยงปริมาณมากในบางอวัยวะ ใช้ใส่อุปกรณ์เพื่อบล็อคหลอดเลือดหรือให้ยาคีโม

 

ซึ่งเทคนิคและรูปแบบการรักษาแบบรังสีร่วมรักษาเหล่านี้ ต้องอาศัยรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เป็นอย่างดี และต้องทำงานเป็นทีมและใกล้ชิดกับแพทย์เจ้าของผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลาในการร่วมกันดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ หรือกุมารแพทย์ ฯลฯ เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ

 

ความก้าวหน้าของการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษทางรังสี และเทคนิคต่าง ๆ ของ “รังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology)" ทำให้รังสีร่วมรักษาได้รับการขนานนามให้เป็นเสมือน "การผ่าตัดที่ใช้เครื่องมือในการตรวจพิเศษต่าง ๆ เป็นตัวชี้นำทาง" และได้รับการยกย่องให้เป็นโฉมหน้าใหม่ของการผ่าตัดในยุคนี้

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : ศูนย์โรคหัวใจและทรวงอก