โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ โรคหัวใจขาดเลือด
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือ โรคหัวใจขาดเลือด ส่วนใหญ่แล้ว เป็นโรคเดียวกัน มีบางภาวะที่หลอดเลือดหัวใจไม่ตีบแต่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และบางครั้งหลอดเลือดหัวใจตีบแต่กล้ามเนื้อหัวใจไม่ขาดเลือดซึ่งพบได้น้อย มาดูเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ ซึ่งเป็นเรื่องที่พบร่วมกันได้บ่อยดีกว่า หัวใจของคนเรานั้นเหมือนปั๊มน้ำทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไป เลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งต้องการเลือดมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่ว่าอวัยวะนั้น ๆ กำลังทำอะไรอยู่ เช่น กระเพาะอาหารเมื่อมีอาหารตกลงไปก็จะมีการย่อยอาหาร ช่วงเวลานี้จึงต้องการเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น
วันหนึ่ง ๆ หัวใจคนเราเต้น (บีบตัว) ประมาณ 100,000 ครั้ง หัวใจคนเราไม่เคยทำงานตามใจตัวเอง ต้องทำตามความต้องการของอวัยวะอื่น ๆ ตลอดเวลา เมื่ออวัยวะส่วนใดของร่างกายต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น หัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้น โดยที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ อย่างไรก็ดี หัวใจเป็นอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อที่ต้องการเลือดมา เลี้ยงตัวเองด้วยเหมือนกัน เมื่อหัวใจทำงานหนักก็ต้องการเลือดมาเลี้ยงมาก เมื่อหัวใจทำงานเบาก็ต้องการเลือดมาเลี้ยงนิดเดียว
หัวใจของคนปกติมีความอดทนมาก ถ้าหลอดเลือดหัวใจ มีเส้นผ่านศูนย์กลางแคบกว่าร้อยละ 70 เจ้าของหัวใจจะเริ่มมีอาการเวลาหัวใจทำงานหนัก ทำงานเบา ๆ อาจจะยังไม่มีอาการ สาเหตุที่คราบไขมันและหินปูนที่เคลือบอยู่ภายในผนัง ทำให้หลอดเลือดตีบมากขึ้นมีได้ 2 รูปแบบ รูปแบบแรก คือ คราบที่สะสมนี้จะค่อย ๆ พอกพูนขึ้นทีละเล็กละน้อย รูปแบบที่สอง คือ คราบไขมันและหินปูนที่เกาะอยู่บนผนังหลอดเลือดมีการแตกร้าวทำให้เกล็ดเลือดเกิดการเกาะรวมตัวเป็นลิ่มเลือดใหญ่ขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยกว่า ซึ่งภาวะนี้คือ การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือ ที่เรียกว่า Heart Attack
เรื่องการตรวจและการรักษาโรคหัวใจชนิดใหม่ ๆ มีมากมายหลายวิธี แพทย์จะเลือกตรวจหรือเลือกรักษาด้วยวิธีไหน คำตอบตามหลักการ ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า การตรวจการรักษาทุกชนิดมีความเสี่ยง ขณะเดียวกันการไม่ตรวจและไม่รักษา ภาวะผิดปกติหรือโรคใดๆก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน
ดังนั้น ก่อนที่จะเลือกตรวจหรือรักษาโรคหัวใจขาดเลือด ด้วยวิธีใดก็ต้องมีความรู้ว่าการตรวจหรือรักษาด้วยวิธีใหม่ ๆ กับการไม่ตรวจ หรือไม่รักษา อะไรจะเสี่ยงกว่ากัน ความเสี่ยงในเรื่องของหัวใจก็จะดูเรื่องโอกาสที่จะเสียชีวิต เกิดหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว อัมพฤกษ์ อัมพาต ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ระหว่างการไม่รักษาหรือการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ความเสี่ยงของการตรวจหัวใจต่าง ๆ เรียงลำดับจากน้อยไปมาก
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
- การตรวจคลื่นสะท้อนเสียงหัวใจ (ECHO)
- การตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจด้วยการเดินสายพาน หรือใช้ยา (Stress Test)
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)
- การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (Multidetector CT Scan – MDCT Scan)
- การเอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจด้วยการสวนหัวใจ (Catheterization Coronary Angiography)
สำหรับการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ โรคหัวใจขาดเลือด ถ้าเรียงตามความเสี่ยงจากน้อยไปมากคือ
- การออกกำลังกายที่ถูกวิธี แนะนำและควบคุมโดยแพทย์
- การรักษาด้วยยา
- การขยายหลอดเลือดโดยการทำบัลลูนและใส่ขดลวด
- การผ่าตัด แต่จะต้องเทียบกับการไม่รักษาว่าอะไรจะเสี่ยงกว่ากัน
การป้องกันการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือ โรคหัวใจขาดเลือด คือ
- รักษาระดับคอเลสเตอรอลให้ต่ำหลอดเลือดจะได้ไม่แข็ง
- ทำให้คราบไขมันและหินปูนที่อาจมีอยู่ไม่เปราะ ผิวจะ ได้ไม่แตกง่าย ด้วยการออกกำลังกาย ลดระดับไขมันโดยใช้ยาควบคุมระดับไขมัน และควบคุมอาหาร ควบคุมระดับน้ำตาล
อย่างไรก็ตามแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการตรวจการรักษาโรคหัวใจให้กับป่วยแต่ละราย เพราะแต่ละรายมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน โรคที่เป็นก็ไม่เหมือนกัน ถึงแม้จะเรียกชื่อโรคเดียวกันก็ตาม การรักษาแบบเดียวกัน คนหนึ่งได้ผลดี แต่อีกคนหนึ่งอาจได้ผลไม่ดีก็เป็นได้
คำค้นหา โรคหัวใจขาดเลือด