การฉีดสีสวนหัวใจ

การฉีดสีสวนหัวใจ เป็นวิธีการที่จะดูหลอดเลือดหัวใจว่าหลอดเลือดตีบหรือไม่ตีบ แต่ไม่ได้บอกการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดหัวใจ ถึงแม้จะเห็นว่าหลอดเลือดหัวใจดูปกติไม่ตีบแต่อาจมีไขมันไปสะสมที่ผนังหลอดเลือด โดยที่การสะสมนี้อาจยังไม่มากพอที่จะให้เห็นการตีบจากการฉีดสีได้ 

 

การฉีดสีสวนหัวใจจะใช้เวลาประมาณ 20–60 นาที ด้วยการการสอดสายตรวจขนาดเล็กผ่านเข้าทางหลอดเลือดแดงผ่านข้อมือหรือขาหนีบ และฉีดสารทึบรังสี เพื่อดูทางเดินของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ พร้อมกับใช้เอ็กซเรย์บันทึกภาพของหลอดเลือดหัวใจ โดยไม่ต้องใช้ยาสลบขณะทำจะใช้ยาชาเฉพาะที่เท่านั้น หลังตรวจเสร็จแพทย์จะเอาสายสวนออกจากตัวคนไข้ แล้วกดตรงบริเวณที่ใส่สายเข้าไปเพื่อให้เลือดหยุด หรือใช้ยา รวมทั้งใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยให้เลือดหยุดได้เร็วขึ้นแล้วแต่กรณี ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน สามารถดื่มน้ำ รับประทานอาหารได้ทันที

 

เมื่อการตรวจพบการทำงานของหลอดเลือดหัวใจว่าตีบตรงส่วนใด ซึ่งจะนำไปสู่การรักษา โดยมี 3 แนวทางให้เลือกด้วยกัน

 

  • วิธีแรก คือ การใช้ยาต่อ

  • วิธีที่สอง คือ การทำบอลลูนหรือการใส่ขดลวดเพื่อขยายในส่วนที่ตีบ

  • วิธีที่สาม คือ การผ่าตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจหรือการผ่าตัดบายพาส

 

โดยวิธีใดจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหลอดเลือดว่าตีบบริเวณใด เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ซึ่งคำว่าได้ผลที่ดีที่สุด หมายความว่า อาการคนไข้ลดเหลือน้อยที่สุด รวมทั้งความเสี่ยงจากโรคนี้ลดลงเหลือน้อยที่สุดเช่น อาจจะเกิดการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดปกติ อาการเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรง จนต้องนอนโรงพยาบาล ฉะนั้นการรักษาต้องมีจุดมุ่งหมาย โดยต้องเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุดให้กับคนไข้

 

อาการบ่งชี้ที่ควรฉีดสีสวนหัวใจ

 

  • แน่นหน้าอกรุนแรง เหมือนมีของหนักกดทับ

  • หายใจหอบเหนื่อย เหงื่อท่วม หมดแรง ใจสั่น หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม

  • อาจมีอาการปวดร้าว หรือชา ไปที่แขน ไหล่ กราม

  • มีประวัติหรือความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือด

  • ภาวะอ้วน

  • สูบบุหรี่

  • ไม่ออกกำลังกาย

  • ตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจคัดกรองเช่น กราฟไฟฟ้าหัวใจ คลื่นเสียงสะท้อน กราฟหัวใจขณะเดินสานพานผิดปกติ

 

การเตรียมตัวก่อนการฉีดสีสวนหัวใจ

 

  • การตรวจคนไข้จะต้องงดอาหาร และเครื่องดื่มก่อนตรวจ 6-8 ชั่วโมง

  • งดยาบางชนิดก่อนการตรวจ

  • ตรวจดูการทำงานของไต เพราะการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปอาจจะมีผลกระทบต่อไตได้

 

ข้อปฏิบัติหลังการฉีดสีสวนหัวใจ

 

  • การณีฉีดสีสวนหัวใจผ่านข้อมือ จะถูกกดห้ามเลือดด้วยสายรัดข้อมือประมาณ 2-4 ชั่วโมง เมื่อเลือดหยุดพยาบาลจะนำสายรัดข้อมือออกให้ ผู้ป่วยห้ามถอดสายรัดข้อมือออกเองโดยที่แพทย์ไม่อนุญาต หลังการฉีดสีสวนหัวใจผู้ป่วยสามารถลุกนั่งหรือยืนได้ และสามารถรับประทานอาหารและน้ำได้

  • การณีฉีดสีสวนหัวใจผ่านบริเวณขาหนีบ จะถูกกดแผลห้ามเลือดประมาณ 15-30 นาที เมื่อเลือดหยุดจะปิดแผลด้วยพลาสเตอร์เหนียว เพื่อให้แผลไม่มีเลือดออกเพิ่ม ช่วงแรกแผลที่ขาหนีบจะถูกกดและห้ามเลือดด้วยหมอนทราย (หนักประมาณ ½ - 1 กก.) ห้ามงอขาหรือลุกนั่งหรือยืนโดยที่แพทย์ไม่อนุญาต หลังการฉีดสีสวนหัวใจผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ทันที

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : ศูนย์โรคหัวใจและทรวงอก