มะเร็งปากมดลูก รู้ทัน ป้องกันได้
มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับที่ 2 ของโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย และพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 6 ของโรคมะเร็งทั้งหมด ซึ่งโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามที่แพทย์แนะนำ หรือ การรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส (Human papilloma virus หรือ HPV)
หนึ่งในปัจจัยที่พบว่ามีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV คือ พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 16 ปี, การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หรือการมีคู่นอนหลายคน ซึ่งพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์เช่นนี้ นอกจากเพิ่มความเสี่ยงการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อ Chlamydia เชื้อ Herpes หรือเชื้อหนองในแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส HPV อีกด้วย (พฤติกรรม sex ต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค) เชื้อ HPV เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง มีมากกว่า 100 สายพันธ์ุ สามารถก่อให้เกิดโรคได้ทั้งบริเวณอวัยวะเพศส่วนนอก, ทวารหนัก, ช่องคลอด, ปากมดลูก และในลำคอ ซึ่งพบว่าการเกิดมะเร็งบริเวณปากมดลูก >90% เกิดจากการติดเชื้อ HPV นำมาก่อน เมื่อได้รับการติดเชื้อ HPV แล้ว ร่างกายจะพยายามกำจัดเชื้อออกไปโดยระบบภูมิคุ้มกัน แต่ในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้อาจทำให้เซลล์ปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่เซลล์มะเร็ง และพบว่าเชื้อไวรัส HPVสายพันธ์ุ 16 หรือ 18 มักพบร่วมกับการเกิดมะเร็งปากมดลูกประมาณ 70%
โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถตรวจคัดกรองและรักษาก่อนที่เซลล์ปากมดลูกจะกลายไปเป็นมะเร็งได้เนื่องจาก การกลายของเซลล์ปากมดลูกจะมีช่วงที่เซลล์เปลี่ยนจากเซลล์ที่เคยปกติ (normal) กลายไปเป็นเซลล์ที่ผิดปกติก่อนมะเร็ง (preinvasive) จากนั้นจึงจะกลายไปเป็นเซลล์มะเร็ง (cancer) เพราะฉะนั้นหากเราสามารถตรวจพบรอยโรคที่ผิดปกติก่อนมะเร็งนั้นได้ก่อน และทำการติดตาม / รักษา จะทำให้สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ควรเป็นช่วงที่ไม่มีประจำเดือนมา เนื่องจากจะทำให้แพทย์สามารถตรวจหารอยโรคในช่องคลอดหรือปากมดลูกได้ง่าย และทำให้การตรวจมีความแม่นยำ ผิดพลาดน้อยกว่าช่วงที่มีเลือดปน ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบัน มีทั้ง
1. ตรวจเซลล์ปากมดลูก (Cytology) เพียงอย่างเดียว โดยตรวจทุก ๆ 2-3 ปี
- แนะนำเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 21-25 ปี ในผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว
- แนะนำเริ่มตรวจที่อายุ 30 ปี ในผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
2. ตรวจเซลล์ปากมดลูกพร้อมหาเชื้อ HPV (Co-testing) โดยตรวจทุก ๆ 5 ปี
- แนะนำเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี ในผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว
- แนะนำเริ่มตรวจที่อายุ 30 ปี ในผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
3. ตรวจหาเชื้อ HPV (Primary HPV testing) โดยตรวจทุก ๆ 5 ปี
- แนะนำเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี ในผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว
- แนะนำเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 30 ปี ในผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
อาจจะพิจารณาหยุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ ในกรณีที่ถึงอายุ 65 ปีแล้ว มีผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกปกติ และผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามแพทย์นัดตลอดต่อเนื่อง 10 ปีที่ผ่านมาปกติมาตลอด ส่วนในกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV นั้น แนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทันทีเมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์ โดยตรวจ cytology ทุก ๆ 1 ปี เมื่ออายุ <30 ปี และตรวจ Co-testing ทุก ๆ 3 ปี เมื่ออายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป โดยให้ตรวจไปตลอด แม้จะมีอายุเกิน 65 ปีแล้วก็ตาม นอกจากการตรวจคัดกรองเซลล์ปากมดลูกแล้ว ยังมีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ โดยข้อแนะนำการรับ HPV วัคซีน มีดังนี้
1. ในปัจจุบันมี Vaccine ป้องกันการติดเชื้อ HPV 2, 4 และ 9 สายพันธุ์
2. อายุ > 9 ปี จนถึง < 15 ปี รับ HPV วัคซีน 2 เข็ม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ห่างกัน 6 เดือน
3. อายุ > 15 ปี รับ HPV วัคซีน 3 เข็ม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยฉีดเข็มที่สอง ห่างจากเข็มแรก 2 เดือน และเข็มที่สามห่างจากเข็มแรก 6 เดือน
4. ในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ติดเชื้อ HIV แนะนำให้รับ HPV vaccine ครบ 3 เข็ม
5. ห้ามรับ HPV วัคซีน ในกรณีที่เคยมีประวัติแพ้ HPV วัคซีน หรือมีการตั้งครรภ์ขณะรับวัคซีน
6. หากอยู่ระหว่างนัดการรับ HPV vaccine แล้วมีการตั้งครรภ์ ให้หยุดรับ HPV vaccine ไปก่อน เมื่อคลอดบุตรแล้วจึงค่อยมารับวัคซีน โดยนับต่อจากเข็มเดิมที่เคยรับไปแล้ว
โรงพยาบาลนวเวช มีทีมแพทย์สูตินรีเวชเฉพะทาง ดูแลผู้เข้ารับการตรวจ ตั้งแต่การให้คำแนะนำดูแลสุขภาพ, การรับวัคซีน HPV, การตรวจคัดกรองสุขภาพผู้หญิงประจำปี และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จนถึงการติดตามรักษาหากตรวจพบความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นรอยโรคผิดปกติก่อนมะเร็ง หรือวินิจฉัยเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งในกรณีที่พบการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ผิดปกติ สามารถทำนัดเพื่อเข้ารับการปรึกษา ส่องกล้องปากมดลูกตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา หรือทำหัตถการตัดเนื้อบริเวณปากมดลูก (LEEP) ในห้องผ่าตัด เพื่อรักษาและวินิจฉัยเพิ่มเติม
สนับสนุนข้อมูลโดย พญ.ศันสนีย์ อังสถาพร
สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา-มะเร็งวิทยานรีเวช
คลิก > โปรแกรมตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก