ฝังเข็ม ลดปวด ลดตึงของกล้ามเนื้อ จากออฟฟิตซินโดรมหรือการเล่นกีฬา ด้วยการแพทย์สมัยใหม่ (DRY NEEDLING)
การฝังเข็มแบบสมัยใหม่ เพื่อลดการปวด คอ บ่า ไหล่ จากออฟฟิตซินโดรม การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือหลังออกกำลังกาย จะมีอาการปวด ระบม ตึง หรือปวดเมื่อยในกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งหรือทั่ว ๆ ตัว หากปล่อยไว้จนกลายเป็นการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (Myofascial Pain Syndrome) ทำให้มีการปวดเกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อบางส่วน หด เกร็ง ค้าง ไม่ยอมคลายตัว เรียกว่า Myofascial Trigger Point
การรักษา ด้วยวิธีการฝังเข็ม (Dry Needling) โดยแพทย์จะใช้เข็มสะกิดให้เกิดการคลายตัวของ Trigger Point ช่วยให้ปมกล้ามเนื้อที่หด เกร็ง เกิดการกระตุกและคลายตัวออก อาการปวดก็จะหายไปหรือดีขึ้น การฝังเข็มด้วยวิธีนี้ควรทำโดยแพทย์เพื่อความปลอดภัย ระยะเวลาการทำจุดละไม่เกิน 3-5 นาที
ซึ่งการฝังเข็ม แบบการแพทย์สมัยใหม่ (Dry Needling) จะแตกต่างจากการฝังเข็มแบบจีน (Acupuncture) ที่กระตุ้นการไหลเวียนของระบบโลหิตและการทำงานของระบบประสาท ที่ต้องฝังเข็ม ประมาณ 15-30 นาที ร่วมกับการใช้กระแสไฟฟ้า
เตรียมตัวรักษาโดยการฝังเข็ม
- รับประทานอาหารตามปกติก่อนมาฝังเข็มเสมอ เพราะถ้าท้องว่างมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นลมได้ง่าย
- พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่อ่อนเพลีย
- ควรสวมเสื้อผ้าแบบสบาย ๆ กางเกงหลวม
- ขณะรับการฝังเข็ม ถ้าอาการผิดปกติ เช่น มีอาการปวดมากขึ้น หน้ามืดเหมือนจะเป็นลม ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
ผลข้างเคียงในการฝังเข็มที่อาจเกิดขึ้นได้
- อาจมีอาการปวดตึงบริเวณฝังเข็ม จากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ประมาณ 24 ชั่วโมง
- อาจมีอาการคล้ายจะเป็นลม จากการตื่นเต้น กลัวเข็ม ร่างกายอ่อนเพลีย ท้องว่าง หรือเกิดจากการกระตุ้นเข็มมากไป
- อาจเกิด เข็มติด เข็มงอ เข็มหัก สาเหตุเกิดจากมีการขยับตัวเวลาปักเข็ม ดังนั้นผู้ป่วยต้องพยายามอยู่นิ่งให้มากที่สุด
- อาจพบการเลือดออก จากการปักเข็มถูกเส้นเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนังหรืออยู่ในกล้ามเนื้อ ซึ่งแพทย์พยายามหลีกเลี่ยงอยู่แล้วแต่อาจเกิดได้ ตอนถอนเข็มต้องกดทันทีเพื่อหยุดเลือดไม่ให้ออก
- ลมขังในโพรงเยื่อหุ้มปอด ข้อแทรกซ้อนนี้ค่อนข้างรุนแรง แก้ไขโดยแพทย์ต้องระมัดระวัง ไม่ปักเข็มในบริเวณที่อาจทะลุเข้าปอดได้ และคนไข้ต้องอยู่นิ่ง ๆ ในขณะทำการฝังเข็ม
สนับสนุนข้อมูลโดย: นพ.ฉัตรดนัย พันธุ์อุดม
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสะโพกและหัวเข่า