ทำไมก่อนมีประจำเดือนเราถึงหงุดหงิดมากขึ้นกว่าปกตินะ??
เรามาทำความรู้จักภาวะกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน (PMS) กันดีกว่า การเข้าใจและการจัดการกับกลุ่มอาการ PMS เป็นเรื่องสำคัญในการรับมือกับอาการที่พบในช่วงระยะเวลาก่อนที่ผู้หญิงจะมีการมีประจำเดือน บางครั้งอาการเหล่านี้อาจมียาวไปถึงหลังประจำเดือน 3-4 วัน ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว และมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ที่ประสบกับ PMS
PMS เป็นช่วงระยะเวลาที่สิ่งต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปในร่างกายและจิตใจของผู้หญิงในวันก่อนการมีประจำเดือน อาการที่พบบ่อยประกอบด้วยความผิดปกติทางร่างกาย เช่น อาการปวดท้อง อาการคัดเจ็บในเต้านม และอาการบวมตามแขน ขา มือ หรือเท้า รวมถึงอาการทางด้านอารมณ์ เช่น อารมณ์เสีย หงุดหงิด ถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้ารอบข้างได้ง่าย ความวิตกกังวล หรือความรำคาญ ซึ่งอาจทำให้ผู้ประสบกับ PMS รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และจิตใจอีกด้วย
สาเหตุของ PMS ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างแน่นอน แต่มีความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับฮอร์โมนหญิงสามารถเป็นสาเหตุหนึ่ง อีกทั้ง ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองก็อาจมีบทบาทในการเกิดอาการทางด้านอารมณ์ได้เช่นกัน
การจัดการกับ PMS อาจเริ่มต้นด้วยการติดตามและบันทึกอาการในปฏิทินประจำเดือน เพื่อจะสามารถระบุและคาดเดาว่าอาการจะเกิดขึ้นในวันไหนของรอบประจำเดือน การรักษาสุขภาพที่ดี เช่น การออกกำลังกาย และการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอ อาจช่วยลดอาการบางอย่างได้ การดูแลสุขภาพจิต เช่น การฝึกสมาธิ หรือการใช้เทคนิคการควบคุมความเครียดอาจช่วยลดอาการทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง PMS
เทคนิคการจัดการทางด้านอารมณ์มีได้หลากหลาย เช่น การฝึกหายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ เพื่อลดความรู้สึกกระวนกระวายจากการถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าภายนอก การเบี่ยงเบนความคิดจากเรื่องที่ทำให้เกิดความว้าวุ่นใจมาคิดในเรื่องที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากกว่า การรู้จักทำกิจกรรมที่ทำให้สงบจิตใจได้มากขึ้น เช่น การทำงานศิลปะ การฟังเพลงหรือดนตรี หรือแม้แต่การอยู่กับธรรมชาติ
ความเข้าใจเกี่ยวกับ PMS เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้ประสบกับสภาวะนี้รู้สึกได้ว่าไม่ได้รู้สึกเหงาไหเอง การแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์กับผู้อื่น ๆ ที่ประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน อาจช่วยให้คุณรู้ว่าคุณไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีประสบการณ์นี้
เพราะฉะนั้นการเข้าใจและการจัดการกับกลุ่มอาการเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน (PMS) เป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นในช่วงนี้สามารถมีผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้หญิง การติดตามและบันทึกอาการ การดูแลสุขภาพที่ดี และการสนับสนุนจากผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการกับ PMS อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม
หากใครมีประสบการณ์ที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายหรือจิตใจเหล่านี้ และไม่มั่นใจในการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทางศูนย์ส่งเสริมสุขภาพจิต โรงพยาบาลนวเวช ยินดีที่จะให้บริการคำปรึกษา และให้การรักษาด้วยความเต็มใจ เพื่อทำให้ทุกคนสามารถรับมือ และก้าวข้ามปัญหาจุกจิกกวนใจเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.กฤตธี ภูมาศวิน
จิตแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพจิต โรงพยาบาลนวเวช