การดูแลเบื้องต้นในผู้ป่วยที่มีภาวะชัก (Seizure First Aid)

ประมาณ 1 ใน 10 ของคนทั่วไป อาจมีภาวะชักได้ 1 ครั้งในชีวิต นั้นหมายความว่าคุณอาจจะเจอคนที่เกิดอาการชักต่อหน้าเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งคนในครอบครัวหรือคนที่คุณไม่เคยรู้จักกันมาก่อน โดยอาการชักมักจะเป็นช่วงเวลาไม่นาน และผู้ป่วยมักจะหยุดชักเอง วิธีการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะชักในเบื้องต้นระหว่างรอให้ผู้ป่วยที่มีอาการชักหยุดชักเอง  ซึ่งบทความให้ความรู้โดย พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ (Emergency Room) โรงพยาบาลนวเวช ได้ให้คำแนะนำวิธีการดูแลเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยที่เกิดภาวะชัก เพื่อทุกท่านสามารถนำไปปฎิบัติตามเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง

 

การดูแลเบื้องต้นเมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะชัก โดยปกติผู้ป่วยที่มีภาวะชักมักจะเกิดอาการขึ้นช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 5 นาที การดูแลหลัก ๆ คือการดูแลให้คนไข้หยุดชักอย่างปลอดภัยเป็นการดูแลเบื้องต้นได้ดังนี้

 

  • ให้ผู้ป่วยอยู่บนพื้นราบที่ปลอดภัย ไม่มีอุปกรณ์ที่อาจทำให้บาดเจ็บ

  • ตะแคงตัวผู้ป่วยไปทางด้านข้าง เพื่อให้การหายใจดีขึ้น

  • เคลียร์พื้นที่รอบ ๆ ไม่ให้มีของมีคม หรือวัตถุอันตราย

  • อาจให้ผ้ารองบริเวณศีรษะของผู้ป่วยไว้

  • ถ้าผู้ป่วยใส่แว่นตาให้ถอดออก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติม

  • ถ้าใส่เนกไทให้คลายหรือถอดออก เพราะอาจทำให้การหายใจแย่ลง

  • รอจนผู้ป่วยหยุดชัก

  • เมื่อผู้ป่วยหยุดชักให้รอจนผู้ป่วยได้สติ ประเมินอาการ และพามาส่งโรงพยาบาล

  • เรียกรถพยาบาลเมื่อผู้ป่วยมีอาการชักมากกว่า 5 นาทีขึ้นไป เนื่องจากเป็นการชักแบบ Complex ซึ่งอาจมีการชักซ้ำได้อีก

 

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อผู้ป่วยมีอาการชัก

 

  • ไม่ต้องพยายามกดตัวคนไข้ เพื่อให้หยุดชัก เนื่องจากอาจเกิดอันตรายต่อทั้งคู่ได้

  • ห้ามใช้ช้อนหรือของงัดที่ปาก เพราะอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บที่ ฟัน กราม หรือหากฟันหลุด อาจมีการสำลักฟันได้ อาจจะเกิดอันตรายเพิ่มเติมได้

  • ไม่ต้องพยายามเป่าปากในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการชัก เนื่องจากผู้ป่วยจะสามารถกลับมาหายใจเองได้ เมื่ออาการชักหยุด

  • ไม่ต้องพยายามให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารหลังการชัก เพราะผู้ป่วยจะยังไม่รู้สึกตัวดี ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารได้อีกครั้งหลังตื่นดี หรืองดไว้ก่อน จนกว่าจะนำตัวส่งโรงพยาบาล

 

หลักการสำคัญในการดูแลผู้ป่วยภาวะชักในเบื้องต้น คือมีสติ คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย และตัวเองเป็นหลัก กรณีต้องการความช่วยเหลือหรือเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิกโทร 02 483 9944

 

เพราะทุกวินาทีคือชีวิต โรงพยาบาลนวเวช มุ่งมั่นให้บริการทางการแพทย์ที่ดี และเข้าถึงง่าย (Accessible Quality Healthcare) ให้บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ด้วยรถพยาบาลฉุกเฉิน (Advance ambulance) พร้อมทีมแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉินและทีมสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) ประจำการตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่กับเครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ในการช่วยชีวิตคนไข้วิกฤตและผู้ประสบเหตุฉุกเฉิน หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ (Emergency Room) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02 483 9999 I Line: @navavej I www.navavej.com