อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก (Bell's palsy)

อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก (Bell's palsy) เป็นภาวะที่ส่งผลต่อเส้นประสาทใบหน้า ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตที่ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งอย่างกะทันหัน

 

สาเหตุเกิดจากอะไร: สาเหตุที่แท้จริงของอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณใบหน้า ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริมชนิดที่ 1 (HSV-1) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือ การติดเชื้อทางเดินหายใจต่าง ๆ เป็นต้น

 

อาการที่พบได้บ่อย: อาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยอาการจะปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือหลายวัน ได้แก่

 

  • ใบหน้าอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตข้างหนึ่ง ทำให้ปิดตาไม่สนิท

  • ปากหรือเปลือกตาข้างที่ได้รับผลกระทบ มีอาการหย่อนลง

  • สูญเสียการรับรสที่ด้านหน้า 2 ใน 3 ของลิ้น

  • ปวดหรือไม่สบายบริเวณกราม หรือหลังใบหูด้านที่ได้รับผลกระทบ

 

ใครบ้างที่เสี่ยง:

 

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

  • สตรีตั้งครรภ์

  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน

  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพออย่างต่อเนื่อง

 

การวินิจฉัย: การวินิจฉัยสามารถทำได้โดย ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียดกับแพทย์เฉพาะทาง อาจต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด และการตรวจวินิจฉัยทางรังสี MRI

 

รักษาอย่างไร: การรักษามีเป้าหมายเพื่อลดการอักเสบ บรรเทาอาการ และเสริมการฟื้นตัวของเส้นประสาท ได้แก่

 

  • การรักษาด้วยยา steroid เพื่อลดการอักเสบและบวมของเส้นประสาทใบหน้า และอาจให้ยาต้านไวรัสในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อไวรัส

  • การดูแลดวงตา เนื่องจากอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกอาจส่งผลต่อความสามารถในการปิดตาได้เต็มที่ จึงแนะนำให้ใช้ยาหยอดตาเพื่อป้องกันตาแห้งและปกป้องดวงตาจากการบาดเจ็บ

  • กายภาพบำบัด การกระตุ้นเส้นประสาทบริเวณใบหน้าด้วยไฟฟ้า (Facial Nerve Stimulation) สามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และช่วยในการฟื้นตัวของการเคลื่อนไหวใบหน้า ภายหลังจากที่มีอาการ 2 สัปดาห์

 

โรคอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก เป็นภาวะชั่วคราวที่ส่งผลต่อเส้นประสาทใบหน้า นำไปสู่การอ่อนแรงของใบหน้าหรือเป็นอัมพาตที่ด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า แม้ว่าสาเหตุที่แน่ชัดยังไม่แน่นอน แต่การได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม จากแพทย์ที่เชี่ยวชาญโดยตรง สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคได้มากขึ้น

 

สนับสนุนข้อมูลโดย: นพ.ชยานุชิต ชยางศุ

แพทย์เฉพาะทางประสาทวิทยา