การดูแลด้านอาหาร สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในช่วงระยะการรักษา
อาหารเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง การรับประทานอาหารให้ได้พลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ รวมถึงมีการปรับการรับประทานอาหารตามอาการที่เกิดขึ้นในช่วงของการรับเคมีบำบัดหรือฉายแสง จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ช่วยให้แผนการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคได้ ผู้ป่วยมะเร็งในช่วงระยะการรักษา ควรเลือกรับประทานอาหารตามอาการ ดังคำแนะนำต่อไปนี้
- อาการเบื่ออาหาร ควรจัดอาหารเป็นมื้อย่อย 4-6 มื้อ จัดอาหารเสริมที่มีพลังงานและโปรตีนสูง เช่น นม
- มีการรับรสเปลี่ยน หลีกเลี่ยงเครื่องเทศหรือเครื่องปรุงรสที่มีกลิ่นฉุน จัดอาหารให้มีอุณหภูมิอุ่นถึงร้อนจะช่วยให้อาหารมีกลิ่นและรสดีขึ้น
- อาการปากแห้ง ควรรับประทานอาหารอ่อนที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป จิบน้ำบ่อย ๆ
- มีแผลในช่องปาก ควรรับประทานอาหารอ่อนที่เคี้ยวและกลืนง่าย ได้แก่ ข้าวต้ม โจ๊กผสมเนื้อสัตว์สับละเอียด งดอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน หลีกเลี่ยงอาหารและผลไม้ที่มีรสชาติเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว
- อาการคลื่นไส้ ควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะมัน ของทอด อาหารหวานจัดและอาหารที่มีกลิ่นฉุน ควรรับประทานอาหารแห้ง ๆ เช่น แครกเกอร์ ทองม้วน จะช่วยลดอาการได้
- อาการอาเจียน ควรจิบของเหลวใส ทุก 10 - 15 นาที หลังจากอาเจียน เช่น น้ำซุปใส น้ำหวาน น้ำผลไม้
- มีน้ำหนักตัวลดลง
- เพิ่มพลังงานและโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ถั่ว ไข่ ในมื้ออาหาร
- จัดอาหารว่างเสริมระหว่างวัน เช่น แซนวิชไข่ นม ไอศกรีม
- ดื่มอาหารทางการแพทย์เสริม (ควรใช้ภายใต้การดูแลแพทย์หรือนักกำหนดอาหาร)
สนับสนุนข้อมูลโดย : แผนกโภชนาการ รพ.นวเวช