มะเร็งปอด ภัยเงียบ! ระยะเริ่มต้น มักไม่แสดงอาการ

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับ 1 ในผู้ป่วยเพศชาย พบได้เป็นอันดับ 2 ในผู้ป่วยเพศหญิง และเป็นมะเร็งอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตประชากรโลก ทั้งนี้เนื่องจากระยะเริ่มต้นของมะเร็งปอด มักไม่แสดงอาการ ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ จึงมักเป็นระยะลุกลาม บทความให้ความรู้โดย พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง มะเร็งปอด เมื่อมีการอาการแล้ว ต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และรับการรักษาอย่างทันท่วงที 

 

“การป้องกัน การเฝ้าระวังอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทำให้ห่างไกลจากมะเร็งปอด”

 

อาการแสดง อาจพบอาการดังต่อไปนี้

  • ไอเรื้อรัง (ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ)
  • ไอมีเลือดปน
  • หอบเหนื่อย หายใจลำบาก
  • เจ็บหน้าอก
  • ปอดอักเสบ
  • เสียงแหบ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ


ใครคือกลุ่มเสี่ยง และ สามารถลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดได้หรือไม่?

  • การเกิดมะเร็งปอดเป็นผลจากการที่เซลล์เยื่อบุหลอดลมได้รับการระคายเคืองเป็นระยะเวลานาน จากสารกระตุ้นบางอย่าง เช่น บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า
  • อาชีพที่สัมผัสกับสารแอสเบสตอส แร่ใยหิน สารหนู นิกเกิล โครเมียม มลภาวะในอากาศ
  • ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม
  • รอยแผลเป็นของปอดเดิม ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น

 

กรณีที่พบความผิดปกติ แพทย์อาจจะทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาตามระยะอาการของโรคตามความเหมาะสม เช่น  การเอกซเรย์ปอด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง และเก็บชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ผล 

 

ระยะของโรค แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 ระยะต้น พบว่าเซลล์มะเร็งอยู่ในปอด
  • ระยะที่ 2 เริ่มมีการแพร่กระจายเซลล์มะเร็งเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด
  • ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งอยู่ในปอดเริ่มออกมาบริเวณต่อมน้ำเหลืองกลางทรวงอก
  • ระยะที่ 4 ระยะแพร่กระจาย พบการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก ต่อมหมวกไต ตับ สมอง

 

กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

  • อายุ 50 - 80 ปี
  • ยังสูบบุหรี่อยู่หรือเลิกสูบบุหรี่มาน้อยกว่า 15 ปี
  • เคยสูบบุหรี่รวมกันตั้งแต่ 20 ซอง ขึ้นไป

 

อาจพิจารณาตรวจคัดกรองโดยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-Dose Computerized Tomography)

ดังนั้นเมื่อกังวลหรือสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งปอด ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

 

คลิก > โปรแกรมเอกซเรย์ปอดและตรวจสมรรถภาพปอด