การป้องกัน "มะเร็งเต้านม" ที่ดีที่สุด คือการตรวจค้นพบและรักษาให้เร็วที่สุด

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในผู้หญิง สถิติปัจจุบันพบ 30-40 คนต่อประชาการ 100,000 คน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ชายพบได้เพียง 1% ของมะเร็งในผู้ชาย พบมากในช่วงอายุ 45-50 ปี สาเหตุการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด คาดว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันทั้งกรรมพันธุ์และความผิดปกติอื่นที่เกิดขึ้นเองภายหลัง

 

ปัจจัยเสี่ยง

1. ประวัติมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ในญาติใกล้ชิด ได้แก่ แม่ พี่สาว หรือน้องสาว

2. เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน

3. มีประวัติยีนผิดปกติ (Gene mutation) ได้แก่ ยีน BRCA1 และ BRCA2

4. ผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีคนแรกขณะอายุมากกว่า 30 ปี

5. ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาเร็ว (ก่อนอายุ 12 ปี) และหมดประจำเดือนช้า (หลังอายุ 55 ปี) หรือใช้ยาฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี

6. เคยฉายแสงบริเวณทรวงอก 

 

แนวทางการตรวจเต้านม

1. ตรวจเต้านมด้วยตนเอง เดือนละ 1 ครั้ง เมื่ออายุ> 20 ปี

2. ตรวจเต้านมโดยแพทย์ ทุก 3 ปี ตั้งแต่อายุ 20 ปี เป็นต้นไป หลังจากอายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 1 ปี

3. ควรทำแมมโมแกรม และ/หรือ อัลตราซาวน์  โดยเริ่มตรวจที่อายุ 35- 40 ปี  และตรวจเป็นประจำทุกปี หลังจากอายุ 40 ปี เป็นต้นไป 

4. หากมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มทำการตรวจเร็วกว่าอายุที่ตรวจพบในญาติ 5 ปี

 

วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

1. ตรวจเป็นประจำทุกเดือน โดยตรวจหลังประจำเดือนมา 7-10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน และตรวจในวันเดียวกันของทุกเดือน เนื่องจากเวลาดังกล่าวเต้านมมีอาการคัดตึงน้อยลง โอกาสผิดพลาดจึงลดลงตามไปด้วย

2. ยืนหน้ากระจก เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงเต้านมทั้ง 2 ข้าง ทั้ง ขนาด รูปร่าง หัวนม ลักษณะผิวหนัง

3. ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วหมุนตัวช้า ๆ เพื่อดูด้านข้าง

4. ใช้มือเท้าเอวและโน้มตัวลงด้านหน้า

5. ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบา ๆ ดูว่ามีน้ำ เลือด หรือหนองไหลออกมาหรือไม่

6. เริ่มคลำเต้านมในท่ายืน โดยใช้มือซ้ายตรวจเต้านมขวา ใช้นิ้ว 3 นิ้ว ได้แก่นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง ค่อย ๆ กดลงบนผิวหนังให้ทั่วเต้านมไปจนถึงรักแร้ หลังจากนั้นให้เปลี่ยนคลำอีกข้างแบบเดียวกัน

 

 

ความผิดปกติที่ควรรีบพบแพทย์

1. คลำได้ก้อนบริเวณเต้านมหรือรักแร้

2. หัวนุ่มบุ่มหรือมีแผล ตกสะเก็ด

3. ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่นบุ๋มลง หนา แดงร้อน หรือเปลี่ยนสี

4. เต้านมมีขนาดหรือรูปทรงเปลี่ยนแปลง

5. มีเลือดหรือน้ำไหลออกจากหัวนม

6. มีแผลที่หายยากบริเวณเต้านมและหัวนม

 

 การตรวจเต้านม

1. แมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษคล้ายเอกซเรย์ เริ่มทำที่อายุ 35-40 ปี ในรายที่ไม่มีอาการ และทุกปีเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป ใช้ตรวจหาก้อนขนาดเล็ก หินปูน การดึงรั้งของเต้านม

2. อัลตราซาวน์เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ตรวจได้ในทุกช่วงอายุ สามารถตรวจดูก้อน ถุงน้ำ ท่อน้ำนม และต่อมน้ำเหลือง ซึ่งจะตรวจควบคู่กับแมมโมแกรมในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 40 ปี แต่ไม่สามารถทดแทนการตรวจแมมโมแกรมได้เนื่องจากไม่สามารถดูหินปูนได้

3. MRI ทำในรายที่มีความเสี่ยงสูง เต้านมหนาแน่นมาก หรือตรวจพบความผิดปกติจากแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์มาก่อน

4. การเจาะชิ้นเนื้อ เมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติของเต้านม แพทย์จะมีการพิจารณาส่งตรวจทางพยาธิวิทยา โดยการใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อผ่านเครื่องมือระบุตำแหน่ง ได้แก่เครื่องอัลตราซาวน์หรือ แมมโมแกรม เพื่อเจาะได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ

 

ข้อดีของการตรวจด้วยแมมโมแกรม 3มิติ

1. คุณภาพสูง คมชัดกว่า เพิ่มความแม่นยำ และความละเอียดสูง คมชัด  ทำให้สามารถระบุตำแหน่งที่มีความผิดปกติของเต้านมได้อย่างชัดเจน และมีความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยมากกว่า

2. เจ็บน้อยกว่า แผ่นกดเต้านม  ที่โค้งเว้าตามลักษณะของเต้านม จึงช่วยลดแรงกดทับบีบกดที่เต้านมทำให้รู้สึกสบายขึ้นและเจ็บน้อยลง ระยะเวลาในการบีบกดไม่ถึง 1 นาที ทั้งนี้ต้องขึ้นกับขนาดและความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมในแต่ละคนด้วย

3. เร็วกว่า เมื่อไม่มีการถ่ายซ้ำ ทำให้ระยะเวลาการตรวจลดลง และลดจำนวนครั้งในการรับปริมาณรังสีทำให้ผู้รับบริการ ได้รับปริมาณรังสีที่ไม่มากเกินจำเป็น

4. ตรวจเจอได้เร็วกว่า ตรวจพบมะเร็งเต้านมได้มากขึ้นและขนาดเล็กลง ทำให้แพทย์สามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก  จึงมีโอกาสรักษาหายขาดและรอดชีวิตได้สูงขึ้น

5. ความปลอดภัย การทำแมมโมแกรมมีการใช้รังสีเอกซเรย์ก็จริง แต่ปริมาณรังสีที่ได้รับเมื่อทำแมมโมแกรมในแต่ละครั้งนั้นมีปริมาณน้อยมาก ๆ (ปริมาณรังสีที่ได้รับในการทำแมมโมแกรมเฉลี่ยประมาณ 0.4 Millis everts โดยถ้าเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น ปริมาณนี้เทียบเท่ากับรังสีที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวในชีวิตประจำวันเราประมาณ 7 สัปดาห์) และมีมาตรฐานการควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่ปลอดภัย ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการก่อให้เกิดมะเร็งจากการตรวจ

 

การเตรียมตัวก่อนการตรวจ

1. ไม่ควรทาโลชั่น สารระงับกลิ่นกาย หรือแป้งฝุ่นที่บริเวณหน้าอกและใต้รักแร้ เพราะจะมีผลต่อภาพเอกซเรย์

2. ไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหาร

3. เวลาที่เหมาะสมในการตรวจ คือ ช่วงหลังจากหมดประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่บวมมาก ทำให้ไม่เจ็บ และเป็นช่วงที่สามารถพบความผิดปกติได้ง่าย

4. กรณีที่เปลี่ยนสถานบริการตรวจ ควรนำฟิล์มหรือผลการตรวจมาใช้ในการเปรียบเทียบด้วย

 

การแปลผลการตรวจแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวน์

เป็นการแผลผลความเสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งเต้านม โดยแปลเป็น BI-RADS 1-6 เพื่อง่ายต่อการติดตามและดูแลผู้ป่วยแต่ละกลุ่มของแพทย์ ไม่ใช่ระยะโรค

1 หมายถึง ไม่พบสิ่งผิดปกติเลยควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมติดตามทุกปี

2 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ แต่เสี่ยงน้อยที่จะเป็นมะเร็งเต้านมควรตรวจติดตามทุกปี

3 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า 2% ที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ควรตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดทุก 6 เดือน

4 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ มีความน่าสงสัย เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้ 3-95% ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยชิ้นเนื้อเพิ่มเติม

5 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมค่อนข้างสูง ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยชิ้นเนื้อเพิ่มเติม

6 หมายถึง ได้รับการวินิจฉัยชิ้นเนื้อแล้วว่าเป็นมะเร็ง

 

“การป้องกันที่ดีที่สุด คือการตรวจค้นพบและรักษาให้เร็วที่สุด”

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.ชุตินันท์ วัชรกุล

รังสีวิทยาวินิจฉัย ภาพรังสีวินิจฉัยชั้นสูงและรังสีร่วมรักษาของเต้านม

 

คลิก > โปรแกรมตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม