การรักษาเส้นเลือดขอดแผลเล็ก (Endovenous varicose vein treatment)

เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) กลายเป็นปัญหาใหญ่ของเกือบทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดิน หรือยืนนาน ๆ เพราะนอกจากจะทำให้เรียวขาที่สวยงามดูแย่ลงแล้ว หากปล่อยไว้นาน จะทำให้เกิดอาการ ขาบวม เมื่อยขา ปวดหรือเป็นตะคริว ข้อเท้าคล้ำ มีแผลอักเสบเรื้อรังที่ขารักษาไม่หาย และอาจร้ายแรงจนทำให้ลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำได้

 

ในปัจจุบันการรักษาเส้นเลือดขอดได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการรักษาหลากหลายวิธี ดังนั้นเมื่อเป็นเส้นเลือดขอดจึงควรเข้าพบศัลยแพทย์หลอดเลือด เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจง และได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ

 

ปัจจัยเสี่ยงเส้นเลือดขอด

 

  • อายุ  ยิ่งมากขึ้นโอกาสเกิดโรคยิ่งสูงขึ้นจากการเสื่อมสภาพของผนังเส้นเลือด
     
  • เพศ  ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นมากกว่าผู้ชาย
     
  • หญิงตั้งครรภ์
     
  • อาชีพ ที่ต้องยืน เดิน หรือนั่งติดต่อกันนาน ๆ
     
  • ภาวะน้ำหนักเกิน 
     
  • พันธุกรรม
     
  • ภาวะผิดปกติของเส้นเลือดดำ เช่น ประวัติลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Deep vein thrombosis) หรือประวัติหลอดเลือดดำอักเสบ (superficial thrombophlebitis)

 

สาเหตุเส้นเลือดขอด 

 

ผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดมีสาเหตุมาจากความดันเลือดในระบบเส้นเลือดดำสูงขึ้น ร่วมกับความผิดปกติของผนังหลอดเลือดดำ ส่งผลให้เลือดจากขาไม่สามารถถูกลำเลียงกลับเข้าสู่หัวใจได้ทั้งหมด หรือมีการย้อนกลับของเลือดดำจากวาล์ว (valve) รั่วชำรุด ทำให้เลือดดำค้างในหลอดเลือดแล้วเกิดการขยายตัวกลายเป็น “เส้นเลือดขอด” (varicose vein) เกิดได้ทุกส่วนในร่างกาย แต่มักเกิดบริเวณ น่อง ต้นขา และข้อเท้า 

 

อาการเส้นเลือดขอด เส้นเลือดขอดระยะเริ่มแรกมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมีระยะของโรคมากขึ้นจะแสดงอาการเหล่านี้ ได้แก่

  • เห็นเส้นเลือดคดเคี้ยว นูนออกมา
     
  • เส้นเลือดมีสีม่วงเข้มหรือสีฟ้าบริเวณขา
     
  • ขาบวม เมื่อยขา ตึงขา
     
  • ข้อเท้าบวม ขาหนัก 
     
  • ปวด หรือเป็นตะคริว 
     
  • ผิวหนังบริเวณข้อเท้าคล้ำ 
     
  • ปวดที่เส้นเลือดขอดจากการอักเสบ และอุดตัน
     
  • แผลพุพอง ผิวหนังอักเสบเรื้อรังรักษาไม่หาย
     
  • เส้นเลือดขอดปริแตก ให้เลือดออกจำนวนมากจากหลอดเลือดโดยตรง

 

 

 

วิธีรักษาเส้นเลือดขอด 

 

การรักษาเส้นเลือดขอดสามารถทำได้หลายวิธี โดยแพทย์จะทำการประเมินระดับความรุนแรงของโรคโดยการตรวจอัลตราซาวด์ หลังจากได้ข้อมูลจากการตรวจแล้วแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยการรักษา ประกอบไปด้วย

 

การสวมถุงน่องแรงดัน (Graduated compression stocking) มักใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง อาการของเส้นเลือดขอดค่อนข้างน้อย สามารถลดอาการปวดเมื่อย หรือหนักขาได้ค่อนข้างดี แต่ข้อด้อยคือ สวมใส่ยาก เนื้อผ้าหนา การระบายอากาศค่อนข้างต่ำ เกิดความไม่คล่องตัวในขณะสวมใส่ หรือก่อให้เกิดผดผื่นคันได้ 

 

การฉีดยาสลายเส้นเลือดขอด (Sclerosing therapy) ใช้รักษาในผู้ที่มีเส้นเลือดขอดบริเวณผิวหนังขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร แพทย์จะทำการฉีดสารระคายเคืองเข้าไปในเส้นเลือด กระตุ้นให้เส้นเลือดอุดตัน การรักษาวิธีนี้ใช้เวลาการรักษาสั้น ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ไม่แนะนำการรักษานี้ในเส้นเลือดขอดที่มีขนาดมากกว่า 3 มิลลิเมตร เนื่องจากจะเกิดการอุดตันภายในหลอดเลือดรุนแรง ทำให้เกิดอาการปวดจากลิ่มเลือดอุดตันได้ ร่วมกับอาจมีสีผิวเหนือเส้นเลือดเข้มขึ้น 

 

การผ่าตัดเปิดผูกหลอดเลือดดำขาหนีบ (High ligation and venous stripping) การผ่าตัดแบบลักษณะนี้เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม มักใช้รักษาในรายที่มีอาการของโรคมากขึ้น โดยแพทย์จะทำการเปิดแผลบริเวณขาหนีบเข้าไปผูกเส้นเลือดดำ และนำเส้นเลือดออกมา ให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจแต่ผลข้างเคียง คือมีรอยฟกช้ำสูง ปวดบริเวณแผลผ่าตัด ต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัวหลังจากเข้ารับการผ่าตัด ในบางรายจะมีรอยแผลเป็นบริเวณขาหนีบ ส่งผลต่อความสวยงาม

 

การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Endovenous radiofrequency ablation, RFA) ทำโดยการเจาะหลอดเลือดบริเวณเหนือหัวเข่า ทำการใส่สายนำความร้อน โดยการเหนี่ยวนำของคลื่นวิทยุความถี่สูงทำให้ความร้อนภายในเส้นเลือด ส่งผลให้เส้นเลือดขอดฝ่อไป การผ่าตัดวิธีนี้มีแผลขนาดเล็กเพียง 2-3 มิลลิเมตร ใช้เวลาการผ่าตัดสั้น มีอาการปวดจากแผลน้อยมาก รอยฟกช้ำจากการผ่าตัดค่อนข้างต่ำ ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว แต่เนื่องจากวิธีนี้มีการกระตุ้นให้เกิดความร้อนในขาของผู้ป่วยได้ ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่สุขสบายขณะทำการรักษา จึงแนะนำให้ใช้การระงับความรู้สึกโดยการบล๊อกหลัง หรือให้ยาเคลิ้มหลับระหว่างการผ่าตัด นอกจากนี้เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีขึ้น แนะนำให้ผู้ป่วยต้องสวมถุงน่องแรงดันต่ออีก 1 เดือนหลังจากเข้ารับการผ่าตัด

 

การรักษาโดยใช้กาวประสานเส้นเลือด (Endovenous cyanoacrylate closure, Venaseal closure system) เป็นวิธีการรักษาเส้นเลือดขอดที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ผ่านการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) การรักษาวิธีนี้ ไม่มีการนำความร้อนเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ไม่ต้องใช้การดมยาสลบ หรือการบล็อกหลัง สามารถรักษาโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ หรือให้ยาเคลิ้มหลับขนาดอ่อน แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 2 มิลลิเมตร ผู้ป่วยไม่เกิดความเจ็บปวดขณะผ่าตัดเนื่องจากไม่เกิดความร้อนภายในบริเวณขา รอยฟกช้ำหลังการผ่าตัดพบได้น้อย แพทย์จะทำการเจาะเส้นเลือดบริเวณใต้เข่า หรือเหนือข้อเท้า ใส่สายสวนขึ้นไปบริเวณขาหนีบหลัง จากนั้นทำการหยอดกาวประสานเส้นเลือดทำให้เกิดการตีบตันของเส้นเลือดดำ การรักษาโดยวิธีนี้ผู้ป่วยจะบาดเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว สามารถเดิน หรือทำกิจกรรมได้ตามปกติหลังจากการผ่าตัดทันที ไม่ต้องพักรักษาตัวภายในโรงพยาบาล และไม่จำเป็นต้องสวมถุงน่องแรงดันหลังจากการผ่าตัด  

 

หากท่าน หรือผู้ใกล้ชิดของท่านมีอาการ หรือสังเกตว่ามีเส้นเลือดขอด สามารถติดต่อเข้ารับคำปรึกษา และวางแผนการรักษาจากศัลยแพทย์หลอดเลือด รพ.นวเวช

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : รศ.นพ.เทิดภูมิ เบญญากร

ศัลยแพทย์หลอดเลือด Endovascular and Complex Vascular Surgery