ลดฝันร้าย…จากการ “หกล้มในผู้สูงอายุ”
ปัจจุบันพบผู้สูงอายุไทย เกิดอุบัติเหตุจากการลื่น สะดุด หกล้ม ถึงปีละ 3 ล้านราย และบาดเจ็บต้องเข้ารักษา 60,000 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตจากการหกล้ม สูงถึงปีละ 1,600 ราย หรือ เฉลี่ยวันละ 4 ราย ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุทางถนน โดย 1 ใน 3 มักเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ ปัญหาที่พบหลังเกิดอุบัติเหตุคือ กระดูกสะโพกแตกหักหรือการบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการ และการเสียชีวิตค่อนข้างสูงมาก จึงกลายเป็น “ฝันร้าย ส่งผลกระทบต่อจิตใจ หวาดกลัวการหกล้ม ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง กระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัว” ดังนั้นบุตรหลานและคนในครอบครัว จึงต้องเป็นหูเป็นตา คอยดูแลป้องกันอย่างใกล้ชิด
อุบัติเหตุจากการหกล้มในผู้สูงอายุ มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว โดยจุดเสี่ยงที่ต้องระวังคือ พื้นเปียก ลื่น พื้นห้องน้ำ พื้นต่างระดับ บันได พื้นที่แสงสว่างไม่เพียงพอต่อการมองเห็น การตกเตียง และการสวมใส่รองเท้าควรเลือกที่พอดีเท้า พื้นมีดอกยาง เพื่อป้องกันการลื่นได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้มในผู้สูงอายุ ได้ดังนี้
1. หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติ เช่น การทรงตัวไม่ดี ขาอ่อนแรง ชา อ่อนเพลีย หน้ามืด หรือมีปัญหาด้านสายตา
2. มีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนหรือไม่ เพราะถ้าเป็นมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดกระดูกหัก เมื่อหกล้มไม่รุนแรง แต่อันตรายถึงชีวิต
3. ปรับพื้นที่เสี่ยงให้มีพื้นเรียบ ไม่ลื่น เปียก หรือมีหยดน้ำ เพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ
4. เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน จะทำให้มีมวลกล้ามเนื้อ แข็งแรงขึ้น ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว และการทรงตัวดีขึ้น โดยออกกำลัง ครั้งละ 30 นาที และไม่น้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น
- การยกน้ำหนัก ยกขวดน้ำ
- การใช้ยางยืด
- การดันน้ำหนักกับเก้าอี้ หรือผนังที่มั่นคง
5. ฝึกเดินให้ถูกต้อง ฝึกกระดกข้อเท้าขึ้น
6. ควรเลี่ยงการเดินขึ้น-ลง บันได หากจำเป็นให้มีคนดูแล
7. ควรสวมรองเท้าหุ้มส้น พื้นมีดอกยางกันลื่น สามารถเคลื่อนไหวก้าวเดินได้สะดวก
8. ผู้ที่มีความบกพร่องในการเดินหรือการทรงตัว ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดินช่วยพยุง เช่น โครงเหล็กช่วยเดิน ไม้เท้า เป็นต้น
การปฐมพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่หกล้มเบื้องต้น คือ
- หากหกล้ม ขยับไม่ได้ ศีรษะกระแทกและไม่รู้สึกตัว ให้นอนในท่าเดิมและเรียกรถพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร 1669
- ผู้ป่วยรู้สึกตัวดีและมีอาการปวดต้นคอร่วมด้วยให้นอนราบ ไม่หนุนหมอน เรียกรถพยาบาล พยายามขยับผู้ป่วยให้น้อยที่สุด
- ผู้ป่วยที่ปวดสะโพกหรือต้นขา ให้นอนในท่าที่ผู้ป่วยปวดน้อยที่สุดแล้วเรียกรถพยาบาล ไม่ควรเคลื่อนย้ายเอง เพราะอาจจะทำให้มีการเคลื่อนของกระดูกมากขึ้นได้
- ผู้ป่วยศีรษะกระแทก ไม่ปวดต้นคอ รู้ตัวดี ให้ญาตินำส่งโรงพยาบาล กรณีมีแผลเลือดออกให้ใช้ผ้าสะอาดกดไว้ 10 - 15 นาที
ออกกำลังป้องกันผู้สูงอายุพลัดตกหกล้ม
การออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ มีหลักมาจากลดปัจจัยเสี่ยงทางกายภาพที่สำคัญในการหกล้ม ได้แก่ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่น การทรงตัว และความไวในการตอบสนอง สามารถฝึกฝนได้ง่าย และสามารถป้องกันและลดอัตราการล้มในผู้สูงอายุได้ อีกทั้งยังพบว่า แม้แต่ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 90 ปี เมื่อได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้องก็ยังสามารถพัฒนาความแข็งแรงและเสถียรภาพของร่างกายจนมีประสิทธิภาพพอที่จะหลีกเลี่ยงการหกล้มได้เช่นกัน
การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ
- ตรวจเช็คสุขภาพ ลดความเสียงโรคทางสมอง โรคกระดูกพรุน ตรวจสายตา และการได้ยิน หากพบปัญหาควรรับการรักษาเพื่อลดอัตราเสี่ยงในอนาคต
- รับประทานอาหารให้เพียงพอ เน้นผักและผลไม้ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายและเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เดิน/ออกกำลังกายตามวัย เพื่อรักษาความยืดหยุ่นของข้อและกล้ามเนื้อ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น หากต้องรับยาควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงของยา ได้แก่ ยาที่ทำให้ง่วงซึม ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ
- ปรับเปลี่ยนการทำกิจวัตรประจำวัน เพื่อลดภาวะเสี่ยงต่อการลื่นล้ม ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง ช่วยเดิน ตรวจสอบอุปกรณ์ช่วยเดินให้มีความสูงเหมาะสม มั่นคง ปลายมียางหุ้ม
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เพราะเป็นสาเหตุของการลื่นล้ม
- เมื่อประสบกับการลื่นล้มพยายามเอาส่วนที่หนาหรือมีอุปกรณ์นุ่มรองลงสู่พื้น
- หลังลื่นล้มไม่ควรรีบลุกให้สำรวจการบาดเจ็บก่อน
อย่างไรก็ตามสำหรับบุตร หลาน และคนในครอบครัว ที่มีผู้สูงอายุในบ้านควรระมัดระวัง ทันทีที่ผู้สูงอายุล้มควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กว่ากระดูกหักหรือไม่ โดยเฉพาะกระดูกสะโพกและสมอง หากได้รับการกระทบกระเทือนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่าคิดไปเองว่าอาการลุกยืนเดินไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามปกติ แต่อาจเกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกเสื่อม ฯลฯ หากได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และรวดเร็ว แพทย์จะสามารถรักษาในเวลาอันรวดเร็วจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.ฉัตรดนัย พันธุ์อุดม
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสะโพกและข้อเข่า
คลิก > โปรแกรมตรวจภาวะข้อเข่าเสื่อมและกระดูกพรุน