เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง และ 48 ชั่วโมง (Holter Monitoring)

Holter Monitoring ช่วยแพทย์ประเมิน

  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจในผู้ป่วยที่มีอาการใจสั่น (Palpitation) หรือมีความรู้สึกหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ (Skipping)
  • ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการหน้ามืด เป็นลม 

 

Highlight 

  • เครื่องมีขนาดเล็ก พกพาสะดวก สามารถใส่กล่อง Holter ไว้ในกระเป๋ากางเกงหรือกระเป๋าเสื้อ  อาจแขวนไว้ที่ไหล่หรือบริเวณคอคล้ายกับกำลังสะพายกล้อง
  • ระหว่างที่ติด Holter สามารถทำกิจวัตรได้เป็นปกติ
  • เครื่องมีหน่วยความจำสูง เก็บข้อมูลได้ละเอียด ช่วยให้แพทย์แปลผลวางแผนและติดตามผลการรักษาได้ถูกต้องเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
     

Holter Monitoring  เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่มีขนาดเท่ากับกล้องถ่ายรูป ใช้สำหรับบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 - 48 ชั่วโมง โดยที่อุปกรณ์ประกอบด้วยกล่องที่มีขนาดเล็กสำหรับบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยที่เครื่องนี้จะเชื่อมต่อกับสายที่ยึดติดกับแผ่น Electrode ที่ติดบริเวณผิวหนัง

 

ชนิดของการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว   การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัวมี 2 ชนิด ได้แก่ 

Holter Monitoring เป็นการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบตลอดเวลา ในช่วงระยะเวลา 24 – 48 ชั่วโมง ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปยังแห่งหนไหนก็ตาม เป็นการตรวจที่ใช้บ่อยในเวชปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่มาด้วยอาการใจสั่นหรือเป็นลม


Event Recording เป็นการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะที่คุณมีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น หน้ามืด

 

Holter Monitoring ใช้สำหรับทำอะไรและเพื่อประโยชน์อะไร 

  • ใช้สำหรับประเมินอัตราการเต้นเฉลี่ยของชีพจรและการตอบสนองของการเต้นของชีพจรในขณะที่คุณกำลังทำกิจกรรมต่าง ๆ
     
  • ใช้สำหรับประเมินคลื่นไฟฟ้าหัวใจในผู้ป่วยที่มีอาการใจสั่น (Palpitation) หรือความรู้สึกว่าหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ (Skipping)
     
  • ใช้สำหรับประเมินผู้ป่วยที่มาด้วยอาการหน้ามืดหรือเป็นลม เพื่อวินิจฉัยแยกโรคว่ามีสาเหตุจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่
     
  • ใช้สำหรับประเมินประสิทธิภาพหลังการรักษาทั้งจากการรักษาด้วยยาหรือการรักษาด้วยการทำหัตถการ

 

ความเสี่ยงของการทำ Holter Monitoring คืออะไร การตรวจ Holter Monitoring แทบไม่มีความเสี่ยงที่เป็นอันตรายเลย การตรวจนี้ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่อาจมีผู้ป่วยบางรายมีอาการระคายเคืองบริเวณที่ติดเทปกาว ซึ่งถ้าผู้ป่วยรายใดเคยมีประวัติแพ้เทปกาวควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนทำการตรวจ

 

ขั้นตอนการทำ Holter Monitoring เป็นอย่างไร ขั้นตอนการตรวจโดยสรุปเป็นดังนี้

เจ้าหน้าที่จะทำการติดแผ่นอิเลกโทรด (Electrode) ที่บริเวณหน้าอกของท่าน หากท่านใดที่มีขนบริเวณหน้าอกค่อนข้างมากอาจจะต้องขออนุญาตทำการโกนขนบริเวณหน้าอกออกบางส่วน เพื่อทำให้ติดแผ่น Electrode ให้แนบกับผิวหนังหน้าอกได้ดียิ่งขึ้นและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

  • หลังจากติดแผ่น Electrode เป็นที่เรียบร้อย ก็จะทำการติดเครื่อง Holter Monitor และเจ้าหน้าที่จะทำการแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวและการดูเเลรักษาเครื่องในระหว่างที่ทำการตรวจ
     
  • คุณสามารถใส่กล่อง Holter ไว้ในกระเป๋ากางเกงหรือกระเป๋าเสื้อ นอกจากนี้คุณอาจจะแขวนไว้ที่ไหล่หรือบริเวณคอคล้ายกับว่าคุณกำลังสะพายกล้องอยู่
     
  • ระหว่างที่ติด Holter คุณสามารถทำกิจวัตรได้เกือบเป็นปกติทุกอย่าง ยกเว้นข้อห้ามบางอย่างดังนี้​
    • ​​ห้ามอาบน้ำหรือว่ายน้ำในขณะที่คุณยังติดเครื่อง Holter อยู่
    • ห้ามทำ X-Ray ในขณะที่คุณยังติดเครื่อง Holter อยู่
    • หลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณที่มีสายไฟแรงสูง หรือบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือบริเวณที่มีเครื่องตรวจจับโลหะ

 

เจ้าหน้าที่จะให้สมุดบันทึกสำหรับบันทึกกิจกรรม รวมถึงอาการผิดปกติต่างๆ เช่น แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย ใจสั่น หน้ามืด ท่านจะต้องทำการบันทึกระยะเวลาที่มีอาการตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อเปรียบเทียบกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการ