เช็คให้ดี!! เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ ระวังโรคปอดอักเสบ (ปอดบวม)

โรคปอดอักเสบเกิดได้จาก 2 สาเหตุ ได้แก่

 

1. ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือ pneumonia โดยเชื้อโรคที่เข้าสู่ปอดและทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ สาเหตุ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย วัณโรค เชื้อรา เป็นต้น ซึ่งเชื้อที่พบจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดโรค ทั้งนี้ เชื้อแบคทีเรียที่พบมักได้แก่ Streptococcus pneumoniae,  Haemophilus influenzae type b, Chlamydia pneumoniae,  Legionella spp.  Mycoplasma pneumoniae ส่วนเชื้อไวรัส ได้แก่ เชื้อ Corona Virus(COVID), Respiratory Syncytial Virus (RSV), เชื้อ Influenza หรือเชื้อไข้หวัดใหญ่

 

2. ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น เกิดจากการหายใจเอาสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ยาเคมีบำบัด การแพ้ภูมิตัวเอง การสำลัก

 

อาการที่ต้องคิดถึงภาวะปอดอักเสบ ได้แก่ ไอมีเสมหะ ไข้สูง เหนื่อย หายใจลำบาก  หายใจหอบเร็ว เจ็บแปล๊บหน้าอกเวลาหายใจเข้า 

 

ตรวจวินิจฉัยปอดอักเสบ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ ร่วมกับการตรวจพิเศษ ตามเหมาะสม เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ตรวจ Respiratory Pathogen Panel 33 เป็นต้น 

 

การรักษาโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ 

 

  • การให้ยาฆ่าเชื้อที่จำเพาะต่อเชื้อ เช่น ยาปฏิชีวนะ  ยาต้านไวรัส ยาฆ่าเชื้อรา ยาวัณโรค ที่เหมาะสม
     
  • การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ  ออกซิเจน และทำกายภาพบำบัดทรวงอก ตามเหมาะสม การรักษาที่เหมาะสม จะเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาได้

 

โรคปอดอักเสบโดยเฉพาะที่เกิดจากการติดเชื้อ อาจมีความรุนแรงมากจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง การป้องกันโรคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การหลีกเลี่ยงสัมผัสบุคคลที่ป่วยเป็นปอดอักเสบ การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือสม่ำเสมอ และโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยกลุ่มเสี่ยงซึ่งหมายถึง เด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ เช่น บุคคลที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูก ภาวะไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานบกพร่อง หรือโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี โรคหัวใจวาย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด สูบบุหรี่เป็นประจำ โรคตับแข็ง พิษสุราเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง 

 

การฉีดวัคซีนช่วยป้องการเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อและ ลดภาววะแทรกซ้อน ได้แก่ 

 

  • วัคซีนป้องกันโควิด
     
  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu vaccine) ซึ่งแนะนำให้ฉีดทุกปี
     
  • วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) ช่วยป้องกันการติดเชื้อ Streptococcus pneumonia หรือที่เรียกกันว่าเชื้อนิวโมคอคคัส

 

ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสมี 2 ชนิด ได้แก่

 

1. วัคซีนชนิด 23 สายพันธุ์ (pneumococcal polysaccharide vaccine; PPSV23; Pneumovax23®) ครอบคลุมสายพันธุ์ของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคนิวโมคอคคัสชนิดรุกรานได้ 86.9-87.3% และครอบคลุมเชื้อสายพันธุ์ 6B, 14 และ 19A

 

ข้อเสีย วัคซีนชนิดนี้ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ยาวนานตลอดชีวิต อีกทั้งยังสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีในเด็กอายุน้อย ข้อมูลจากการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน PPSV23 พบว่าสามารถลดการเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดไม่รุกรานได้เฉลี่ย 46% และลดอัตราการเสียชีวิตจากปอดอักเสบได้ 33%

 

2. วัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ (pneumococcal conjugate vaccine; PCV13; Prevnar13®) ครอบคลุมจำนวนสายพันธุ์ของเชื้อจะน้อยกว่าวัคซีนชนิดแรก แต่ยังคง ครอบคลุมสายพันธุ์ 6B, 14 และ 19A 

 

ข้อดี เมื่อได้รับวัคซีนชนิดนี้หลายครั้งจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ยาวนานตลอดชีวิตและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ข้อมูลจากการศึกษา พบว่าวัคซีน PCV13 ป้องกันการเกิดโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสสายพันธุ์ที่มีอยู่ในวัคซีน  ได้เฉลี่ย 45.6% ป้องกันการเกิดโรคนิวโมคอคคัสชนิดรุกรานได้ 75%

 

หมายเหตุ การพิจารณา เลือกวัคซีน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ตามข้อบ่งชี้

 

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล 

อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม 

 

คลิก > วัคซีนเหมาจ่าย (ไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ และปอดอักเสบ 13 สายพันธุ์)