ภาวะเสียชีวิตกระทันหันในผู้ที่สุขภาพแข็งแรง

ภาวะเสียชีวิตกะทันหันในผู้ที่สุขภาพแข็งแรงมาก่อน สามารถเป็นได้จากหลายสาเหตุ แต่ก่อนอื่นนั้นอาจต้องดูว่าผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ในความเป็นจริงแล้วมีโรคประจำตัวอะไรซ่อนอยู่หรือไม่โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ, ไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นอันตรายต่อหลายระบบสำคัญในร่างกาย เช่น ระบบหลอดเลือดหัวใจ , ระบบประสาท เป็นต้น

โดยการเสียชีวิตเฉียบพลันนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุของอวัยวะสำคัญของร่างกายทั้งนี้ขึ้นกับ อายุ และปัจจัยทางสุขภาพของแต่ละคน เช่น

  • หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden cardiac death)
  • หลอดเลือดปอดอุดตันเฉียบพลัน (Pulmonary embolism)
  • หลอดเลือดสมองตีบ หรือ แตกเฉียบพลัน (Stroke) เป็นต้น

 

โดยวันนี้จะกล่าวถึง ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden cardiac death) คือการที่หัวใจหยุดทำงานฉับพลัน ทำให้ไม่สามารถบีบเลือดให้ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ สมอง และอวัยวะสำคัญจะเริ่มขาดเลือดและเสียชีวิตในที่สุด

 

สาเหตุที่ทำให้เกิด

1. เส้นเลือดหัวใจตีบ (Ischemic heart disease) หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ (Coronaryanomalies)

2. หัวใจเต้นผิดจังหวะ คือการนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติไป เช่น การเต้นผิดจังหวะของหัวใจห้องล่าง (Ventricular fibrillation, Ventricular tachycardia)

3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (low Ejection fraction) หรือ กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ

4. สาเหตุความผิดปกติอื่นที่เกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด การเกิดการบาดเจ็บหรือได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณหน้าอก (Commotio cordis)

 

ปัจจัยเสี่ยง

  • ภาวะไขมันในเลือดสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคไตเสื่อม
  • การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด
  • ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวมีคนเสียชีวิตเฉียบพลันตั้งแต่อายุน้อย (อายุ < 55 ปี)
  • การมีโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหัวใจ

 

แนวทางการป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงประวัติเสี่ยงดังที่กล่าวไปข้างต้น
  • คอยสังเกตอาการ หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น อาการเจ็บหน้าอก, อาการวูบ หมดสติ, หายใจเหนื่อย, ใจสั่น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวโรคหัวใจ
  • ตรวจสุขภาพเพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ โดยในแต่ละบุคคลอาจมีแนวทางการตรวจการรักษาที่ต่างกันไป เช่น ผู้ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี, ผู้ที่เป็นนักกีฬา และ กลุ่มผู้สูงอายุ จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป

 

ในปัจจุบันมีผู้ที่เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันประมาณ 3 ล้านคนต่อปีจากทั่วโลก นอกจากการป้องกันและคอยตรวจดูความเสี่ยงแล้ว สิ่งสำคัญคือเราทุกคนควรเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลและการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น (Basic life support) ซึ่งมีส่วนสำคัญมากในการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันซึ่งสามารถเกิดกับใครก็ได้

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.วริษฐา เล่าสกุล

แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจและทรวงอก

 

คลิก > โปรแกรมตรวจสุขภาพ Premium Check Up Program