ออกกำลังกายเป็นผลดี แต่ถ้ามากไปก็มีผลเสียต่อหัวใจ?

โดยทั่วไปแล้วการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ มีข้อมูลชัดเจนว่าการออกกำลังกายส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมและระบบการทำงานของหัวใจ ในปัจจุบันสำหรับบุคคลทั่วไปแนะนำให้มีการออกกำลังกายชนิด cardiovascular training อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที เพื่อประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นกลุ่มที่มีการออกกำลังกายอย่างหนัก ระดับนักกีฬา หรือในผู้ที่ออกกำลังอย่างหนักเป็นเวลามากกว่า 1 ชั่วโมงติดกันทุกวัน ในกลุ่มนี้แนะนำให้มีการตรวจเช็คสุขภาพและความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ก่อนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเสมอ
 

โดยในปัจจุบันพบว่าในกลุ่มที่มีการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางหัวใจ (Exercise induced cardiac remodelling) นั่นคือเกิดการหนาตัวขึ้นของกล้ามเนื้อหัวใจ และห้องหัวใจขนาดโตขึ้น เรียกว่าภาวะ Athlete heart ซึ่งเกิดจากการที่หัวใจทำงานอย่างหนักจากการออกกำลังกาย โดยภาวะนี้ยังไม่พบว่ามีอาการจำเพาะอย่างใดเป็นพิเศษ แต่อาจมีหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด (ectopic beat), อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง หรือตรวจร่างกายทางหัวใจพบความผิดปกติบางอย่าง อย่างไรก็ตามผู้ที่สงสัยภาวะนี้ควรได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อแยกกับกลุ่มโรคทางหัวใจอื่นๆ ที่คล้ายกัน แต่มีแนวทางการรักษาที่ต่างกัน เช่น Hypertrophic cardiomyopathy, RV cardiomyopathy
 

กลุ่มที่พบว่ามีภาวะ Athlete heart ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการรักษาชัดเจน แต่พบว่าหากผ่อนการออกกำลังกายอย่างหนักลงจากเดิม คือการ detraining และติดตามไปอีก 2-3 เดือนจะพบว่าส่วนใหญ่โครงสร้างทางหัวใจกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตามยังเน้นย้ำความสำคัญของการออกกำลังกายเสมอว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แต่ควรออกกำลังกายอย่างพอดี และหากมีความจำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลานาน เช่น การฝึกซ้อมกีฬา การวิ่งมาราธอนระยะทางไกล ฯลฯ กลุ่มเหล่านี้ควรได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และความพร้อมของร่างกายก่อนเสมอ

 

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.วริษฐา เล่าสกุล

แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคหัวใจ

 

คลิก > โปรแกรมตรวจสุขภาพหัวใจ