เมื่อลูกกังวล…พ่อแม่ช่วยอย่างไร
เมื่อลูกโตขึ้น ต้องพบสิ่งใหม่มากมาย เช่น การไปโรงเรียน การเจอเพื่อนใหม่ การแข่งขัน ความกดดันในการเรียนหนังสือ และอีกหลายเรื่องที่ท้าทาย โดยทั่วไปเวลาเด็กเจอสถานการณ์ใหม่ อาจมีความกังวลเกิดร่วมกับอารมณ์อื่น ๆ ได้ เช่น ขณะที่เด็กตื่นเต้น ดีใจ ที่สอบเข้าเรียนคณะที่ตัวเองต้องการได้ ก็มีความกังวลที่ต้องจากเพื่อน มีการเรียนที่ยากรออยู่ เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์ยากลำบาก เช่น เด็กจำเป็นต้องย้ายโรงเรียนกระทันหัน ครอบครัวย้ายที่อยู่ พ่อแม่แยกทาง มีคนเจ็บป่วยหนักในบ้าน การที่เด็กจะกังวลจึงเป็นเรื่องปกติ แต่การรับมือกับความกังวลนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานจิตใจ ทักษะในการจัดการอารมณ์ของเด็ก วิธีการช่วยเหลือของพ่อแม่ และบริบทแวดล้อมของครอบครัวที่มีความแตกต่างกัน ที่จริงความกังวลในระดับที่ไม่มากเกินไป กลับเป็นพลังบวก ที่เป็นสัญญาณให้คนเราเตรียมพร้อมที่จะเผชิญสถานการณ์ใหม่ๆ สถานการณ์ที่ยุ่งยาก และเกิดพลังในการจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แต่หากความกังวลนั้นมากเกินไป ก็จะกลายเป็นอุปสรรค ที่ทำให้บุคคลนั้นไม่อาจขับเคลื่อนชีวิตให้ก้าวเดินต่อไป หรือขาดพลังในการแก้ไขปัญหา และหากความกังวลสะสมมากเข้า อาจป่วยเป็นโรควิตกกังวล ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
พ่อแม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ลูกเป็นโรควิตกกังวลได้โดย
- พ่อแม่มีเวลาให้ลูก อาจเพียงแค่ 15-30 นาทีต่อวัน ทำในสิ่งที่ทำแล้วเพลินไปด้วยกัน เช่น เดินเล่น ทำอาหาร รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง ล้างรถ หรือแค่เป็นการนั่งเล่นอยู่ด้วยกัน ก็เป็นการทำให้เด็กอบอุ่นใจ สร้างความผูกพันและไว้ใจพ่อแม่
- ฝึกลูกให้มองโลกในแง่ดี ในทุกวันให้มีช่วงเวลาที่พ่อแม่และลูกคุยถึงสิ่่งดีที่เกิดขึ้นในวันนั้น และสิ่งดีที่เราหวังว่ามันจะเกิดขึ้น ให้ทำเป็นประจำจะช่วยให้เด็กชินกับการมองโลกแง่ดี
หากสังเกตว่าลูกเริ่มมีความกังวลมาก พ่อแม่ช่วยลูกให้เรียนรู้การจัดการความกังวลได้โดย
- ชวนคุยในบรรยากาศสบายว่า ช่วงนี้พ่อ/แม่สังเกตเห็นว่าลูกดูเงียบ ๆ ไป เกิดอะไรขึ้น หรือมีอะไรเปลี่ยนไปหรือไม่ ให้ถามความรู้สึกและความคิด “เรื่องนี้ลูกรู้สึกและคิดอย่างไร” ในข้อนี้จากประสบการณ์ของหมอ มันเป็นไปได้ที่ลูกอาจจะไม่อยากตอบ หรือไม่รู้จะพูดอะไร พ่อแม่ไม่ต้องเซ้าซี้หรือบังคับให้ลูกพูดออกมา ประเด็นคือเราแสดงออกให้ลูกรู้ว่าเราสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของลูกนะ และเราพร้อม + มีเวลาในการคุยกับลูกเสมอ
- ถ้าลูกเปิดใจคุย (ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ) ให้พ่อแม่รับฟังอย่างใส่ใจ ให้เวลาลูกคุยเท่าที่ลูกต้องการเลย เพราะลูกคงต้องใช้เวลาในการคุยเรื่องนี้กันพอสมควรทีเดียว หมออยากให้พ่อแม่เข้าใจว่า บ่อยครั้งที่ยากในการหาคำมาเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในใจโดยเฉพาะถ้าเป็นความรู้สึกไม่ดี ลูกอาจต้องใช้เวลาเรียบเรียงคำพูด ทำความเข้าใจความรู้สึกตัวเองก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นในใจ ให้พ่อแม่ยับยั้งตัวเอง อย่าเพิ่งรีบตัดบท รีบสอน ขอให้ฟังลูกจนจบในส่วนของลูกก่อน
- ให้ลูกสัมผัสได้ว่าพ่อแม่ยอมรับในความกังวลของลูก มองความกังวลเป็นเรื่องปกติในชีวิตที่จะเกิดขึ้นได้ บอกลูกว่า “พ่อแม่ดีใจที่ได้คุยเรื่องแบบนี้กับลูกนะ” ในชีวิตจริงที่หมอเจอบ่อยคือ พ่อแม่จะบอกว่า “ไม่เห็นจะต้องกังวลเลย เรื่องแค่นี้เอง” หรือ “ลูกคิดมาก ขี้กังวลเกินไปแล้ว” หรือ “ไม่มีใครเค้ากังวลเรื่องนี้หรอกลูก” การพูดแบบนี้จะทำให้เด็กรู้สึกแย่กับตัวเองที่กังวล ต่อไปจะไม่กล้าเล่าความรู้สึกให้พ่อแม่ฟังอีก ดังนั้นอย่าทำ
- ช่วยลูกคิดหาวิธีจัดการสิ่งที่่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวภายนอกหรือความกังวลในใจ แต่อย่ารีบเข้าไปทำแทนลูก ปล่อยให้ลูกได้คิดและทำเอง เด็กจะรู้สึกภูมิใจในความสามารถของตัวเองมากกว่า
- ให้ลูกได้ฝึกซ้อมทักษะการแก้ปัญหา เช่น ถ้าลูกกังวลที่จะต้องนำเสนอหน้าชั้นเรียน ให้ลองซ้อมนำเสนอให้พ่อแม่ฟังก่อน เพื่อเพิ่มความคล่องแคล่ว หรือลูกกังวลเรื่องเพื่อนมาคอยขอลอกงานแล้วลูกไม่ชอบ ให้ลูกซักซ้อมคำพูดที่จะปฏิเสธเพื่อนจนคล่องและเป็นธรรมชาติให้กำลังใจ เช่น ลูกเคยเจอเหตุการณ์คล้ายกันมาก่อนและลูกก็ผ่านมันมาได้ ขอให้เชื่อมั่นและให้โอกาสตัวเองอีกสักครั้ง และชื่่นชม-พ่อแม่เห็นความพยายามของลูก และลูกทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
- ปลอบโยนและเป็นที่พึ่งทางใจ บางครั้งเด็กกังวลมากจนการพูดคุยอาจจะไม่ช่วยบรรเทาอารมณ์ที่ท่วมท้น ให้เปลี่ยนมาใช้ การกอด สัมผัส การจับมือ การนวดเบาๆเพื่อลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ หรือกระทั่งใช้เวลาเงียบๆอยู่ด้วยกัน เปิดเพลงช้าเบาๆ สร้างบรรยากาศสงบ ให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่อยู่ตรงนี้กับลูกเสมอ จะช่วยให้้เด็กสบายใจและผ่อนคลายขึ้นตราบเท่าที่ความกังวลนั้นไม่รุนแรงหรือเกิดขึ้นบ่อยจนทำให้เด็กไม่มีความสุข พ่อแม่ช่วยลูกให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับความกังวลและรู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ ลูกจะค่อยๆเกิดความมั่นคงทางใจ ไม่กลัว ไม่หลีกเลี่ยง กล้าเผชิญหน้าความกังวลและมีทักษะในการแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ดีขึ้น
ถ้าพ่อแม่ช่วยแล้ว ลูกยังกังวลมาก…ควรทำอย่างไรต่อไป
ถ้าลูกกังวลมากจนไม่มีความสุข หมกมุ่นกับความกังวลจนไม่อยากทำอะไร หลีกเลี่ยงในสิ่งที่ทำให้กังวลจนเกิดผลกระทบชีวิตด้านอื่น เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากออกนอกบ้าน ไม่อยากเล่นกับคนอื่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ควรพาลูกปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการของลูกว่าเป็นโรควิตกกังวลในเด็ก หรือไม่ และนำไปสู่การรักษาให้ตรงกับปัญหาที่เด็กเป็น
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.ดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว
แพทย์เฉพาะทางจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น