กระจกสะท้อน : EP 1 ความสัมพันธ์ที่ดี 3 บาน
มนุษย์ถูกวิวัฒนาการให้อยู่ด้วยกันเป็นสังคมเพื่อความอยู่รอดในสมัยโบราณ เช่น อยู่รวมกันเพื่อป้องกันภัย เพื่อช่วยหาอาหาร หรือเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ ความสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์มาช้านาน แม้รูปแบบจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ความสัมพันธ์ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญอยู่ในทุกๆ ช่วงวัย และเนื่องจากมนุษย์มีสมองที่สามารถเรียนรู้ได้อย่างซับซ้อน ความสัมพันธ์จึงเป็นพื้นที่เรียนรู้หนึ่งที่นอกเหนือจากการเรียนในบทเรียน
ดังนั้นจึงอาจเปรียบความสัมพันธ์เป็นกระจกสะท้อนแห่งการเรียนรู้ของมนุษย์ ทุกคนล้วนต้องการกระจกเพื่อส่องเห็นตัวเอง แต่กระจกก็มีหลายแบบหลายชนิด อาจจะขุ่น ใส เล็ก ใหญ่ ขรุขระ เรียบ ไม่เหมือนกัน แต่ใครๆ ก็คงอยากจะใช้กระจกที่ค่อนข้างใสสะอาดเรียบขนาดพอดีจับแล้วไม่บาดมือ
กระจกบานแรก “ครอบครัว”
เราเติบโตมา ถูกหล่อหลอม ก่อร่างโครงสร้างจิตใจขึ้นมาตั้งแต่แรกเกิด วัยเด็ก วัยรุ่น จนถึงวัยผู้ใหญ่ และยังคงมีอิทธิพลจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่เป็นกระจกสะท้อนในครอบครัวนั้นแตกต่างออกไปแล้วแต่สภาพครอบครัวนั้นๆ หลักๆ คือผู้เลี้ยงดูใกล้ชิด อาจจะเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ลุง ป้า น้า อา หรือใครก็ตามที่ทำหน้าที่ผู้ดูแล การสะท้อนจากกระจกบานแรกนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นกระจกบานแรกในช่วงชีวิตที่ยังเป็นต้นอ่อน ต้องอาศัยการรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ไม่ใช่แค่ทางร่างกายความคิด แต่ยังมีด้านจิตใจและอารมณ์ ซึ่งเด็กจะสามารถรับรู้และเรียนรู้อารมณ์ ผ่านการสะท้อนของผู้ดูแล อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้วิธีการดูแลสภาวะอารมณ์ของตนเองและเข้าใจผู้อื่นได้อีกด้วย
กระจกบานที่สอง “คนรอบข้าง”
เมื่อเราเติบโตมาตั้งแต่วัยเด็กจนสู่วัยอื่นๆ เราจะเริ่มมีความสัมพันธ์ในสังคมอื่่นนอกเหนือจากครอบครัวเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ เช่น เพื่อน ครู รุ่นพี่ รุ่นน้อง คนรัก เพื่อนร่วมงาน ซึ่งคนรอบตัวเราทุกคนสามารถเป็นกระจกสะท้อนแห่งการเรียนรู้ของเราได้เสมอ แต่แน่นอนกระจกที่วางอยู่ใกล้เรามากกว่า จะทำให้เรามองเห็นชัดกว่า ดังนั้นคนเราจึงต้องการคนข้างๆ ที่เข้าใจ เป็นความสบายใจ ที่สามารถรับฟังเราได้ เปรียบเหมือนกระจกใสที่สะท้อนให้เรามองเห็นตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่รู้สึกไม่ดี และบางครั้งกระจกบานนี้ยังสามารถสะท้อน มุมมองอื่นที่เราอาจยังไม่เห็นหรือเห็นไม่ชัดให้เราได้อีกด้วย
กระจกบานสุดท้าย “กระจกล่องหน”
กระจกบานนี้จับต้องยากที่สุด ไม่มีรูปธรรมให้เรามองเห็น แต่เป็นกระจกที่สำคัญ มั่นคงและดีที่สุดของทุกคน นั่นคือ ตัวเอง หลายๆ ครั้งที่เราไม่เคยใช้กระจกบานนี้ เพราะเรามักคาดหวังที่จะใช้กระจกรอบตัวที่เราหยิบจับได้ แต่ลืมไปว่ากระจกเหล่านั้นมีหลายรูปแบบ อาจไม่ได้ดังใจหวัง
ดังนั้นเราอาจจะต้องลองมองหากระจกภายในตัวเราเพื่อที่เราจะได้มองเห็นกระจกล่องหนบานนี้ที่เราจะนำมาใช้ส่องได้ตลอด คำถามก็คือแล้วจะหาได้อย่างไร อย่างที่กล่าวข้างต้น ความสัมพันธ์ก็เหมือนกระจก ซึ่งมีอีกหนึ่งความสัมพันธ์ที่เราอาจไม่ได้นึกถึง นั่นคือความสัมพันธ์กับตัวเอง ถ้าเราอยากมีกระจกใสติดตัว เราก็ควรฝึกสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเอง โดยการใจดีหรือมีเมตตากับตัวเอง การยอมรับและชื่นชมตนเอง ก็เหมือนกับเราค่อยๆ หลอมรวมเม็ดทรายจนกลายเป็นกระจกอย่างดีนั่นเอง
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.เต็มหทัย นาคเทวัญ
แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์
คลิก > ปรึกษาหรือนักหมายพญ.เต็มหทัย นาคเทวัญ