โรคเครียด / ภาวะการปรับตัวผิดปกติ
ข้อมูลโรคและการวินิจฉัย โรคเครียด หรือ ภาวการณ์ปรับตัวผิดปกติ มักเกิดขึ้นหลังจากมีสภาวะกดดันที่มีสาเหตุชัดเจนมากระทบ ก่อให้เกิดความเครียดที่ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ โดยอาการจะเกิดภายใน 3 เดือนหลังจากมีภาวะกดดันมากระตุ้น และอาการจะคงอยู่ไม่เกิน 6 เดือนหลังภาวะกดดันหายไป
สาเหตุ
1. ฮอร์โมนความเครียด สร้างจากต่อมหมวกไต มี 2 ชนิด คือ คอร์ติซอล และอะดรีนาลีน ร่วมกับ สารเคมีในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่สมดุล
2. ปัจจัยส่วนบุคคล: การพัฒนาการของจิตใจในแต่ละวัย บุคลิกนิสัย แนวคิดทัศนคติ โรคประจําตัวหรือภาวะความเจ็บป่วยทางร่างกาย
3. ปัจจัยภายนอก: การทํางานและการเงิน ความสัมพันธ์ การเปลี่ยนแปลงในชีวิต
อาการแสดง
1. ร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น มือสั่น หายใจไม่อิ่ม มือเท้าเย็น เหงื่อออก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
2. อารมณ์จิตใจและความคิด เช่น วิตตกกังวล เศร้าหดหูเบื่อ หงุดหงิดโมโห หมกมุ่นครุ่นคิด กระสับกระส่าย กระวนกระวาย ตื่นเต้นตื่นกลัว รู้สึกไม่มั่นใจ ไม่ภูมิใจหรือไม่ปลอดภัย ไม่มีสมาธิ ไม่สนใจสิ่งรอบตัว คิดอยากตาย
3. พฤติกรรม เช่น ร้องไห้ง่าย/บ่อย เบื่อไม่อยากทําอะไร เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ไม่อยากพบใคร ไม่ดูแลตนเอง ก้าวร้าวใช้ความรุนแรง ดื่มแอลกอฮอล์/สูบบุหรี่/ใช้สารเสพติด การทํางานหรือความสัมพันธ์มีปัญหา
การดูแลความเครียด
1. การดูแลจิตใจและอารมณ์
- การฝึกรับรู้สภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เศร้า กังวล โกรธ และลองฝึกอยู่กับอารมณ์นั้น โดยการสังเกตไม่ขับไล่หรือต่อสู้ จะเห็นได้ถึงการเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์แต่ละขณะ อาจใช้วิธีการหายใจเข้าออกช้า ๆ อยู่ในท่าทางที่ผ่อนคลาย
- การเบี่ยงเบน โดยหากรับรู้สภาวะอารมณ์แล้วไม่สามารถอยู่อารมณ์ที่ร่วมกันได้ วิธีการเบี่ยงเบนจะเป็นตัวช่วยในการผ่อนคลายอารมณ์ให้เบาลง เช่น การเลี่ยงจากสถานการณ์กระตุ้นไปก่อน การไปทํากิจกรรมผ่อนคลายอย่างสร้างสรรค์ การพูดคุยปรึกษากับผู้อื่น
2. การดูแลความคิด ขณะรับรู้สภาวะอารมณ์ข้างต้น จะมีความคิดเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันได้ ดังนั้นให้ฝึกสังเกตว่าความคิดนั่นคืออะไร มีความสัมพันธ์กับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร และค้นหาทําความเข้าใจสาเหตุของปัญหา รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหา และการมองเห็นยอมรับปัญหาอย่างมีเหตุผลตามความเป็นจริง
3. การดูแลร่างกาย หากเกิดอาการทางร่างกายต่าง ๆ ให้ฝึกรับรู้สภาวะอาการที่เกิดว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาการแสดงความเครียดทางร่างกายของสมองนั้นเอง จากนั้นฝึกการผ่อนคลายอาการทางกายเหล่านั้น อีกทั้งยังควรตระหนักถึงสถาวะอารมณ์และความคิดที่สัมพันธ์กับอาการทางกายนั้น ๆ เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและดูแลได้ถูกวิธี และหากไม่สามารถดูแลอาการทางกายได้เอง ก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการรับประทานยาบรรเทาอาการ ทางกายได้ตามความเหมาะสม
ความเครียดเป็นภาวะที่ทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์แตกต่างกันไปทั้งในเรื่องของเรื่องราวและการปรับตัวให้ผ่านพ้นไปได้ แต่หากความเครียดเหล่านั้นไม่สามารถหาทางระบายออก ก็สามารถก่อให้เกิดโรคเครียดได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโรคเครียดสามารถมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ก็สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้เช่นกัน
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.เต็มหทัย นาคเทวัญ
แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์