ทำความรู้จักกับโรคมะเร็งตับ  มะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายสูงสุดของคนไทย

 

มะเร็งตับ หรือ Hepatocellular carcinoma คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ตับที่ผิดปกติ เกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์มากกว่าปกติ จนเกิดเป็นก้อนในตับ และ เมื่อเป็นระยะลุกลาม จะพบเซลล์มะเร็งกระจายไปอวัยวะอื่นๆได้ เช่น ปอด กระดูก เป็นต้น   

 

โดยสาเหตุของมะเร็งตับมีหลายสาเหตุ ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ไขมันพอกตับ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือ ไวรัสตับอักเสบซี การได้รับสารบางชนิด เช่น อะฟลาท็อกซิน ซึ่งมาจากเชื้อรา ที่ปนเปื้อนในอาหารแห้ง ธัญพืช ถั่วเหลือง ถั่วลิสง   

 

อาการของโรคมะเร็งตับมีอะไรบ้าง  

 

ผู้ป่วยอาจจะปวดท้องใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่ ท้องบวมโต มีน้ำในช่องท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวเหลือง ตาเหลือง อาเจียนเป็นเลือด ตรวจพบการทำงานของตับผิดปกติ แต่อย่างไรก็ดี หากมะเร็งตับอยู่ในระยะต้น ขนาดของก้อนยังไม่ใหญ่มาก และการทำงานของตับยังไม่ผิดปกติมาก ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการเลยก็ได้   

 

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งตับ 

 

  • ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือ ไวรัสตับอักเสบซี
     
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
     
  • ผู้ป่วยโรคตับแข็ง จากสาเหตุใดก็ตาม
     
  • มีภาวะอ้วน ตับอักเสบจากไขมันพอกตับ
     
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งตับ

 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับทำได้อย่างไรบ้าง  

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยการทำ อัลตราซาวน์ช่องท้องส่วนบน และอาจเจาะเลือดเพื่อดูค่าคัดกรองมะเร็งตับ (AFP) ควบคู่ไปด้วย หากพบความผิดปกติที่สงสัยมะเร็งตับ แพทย์จะส่งตรวจ CT scan หรือ MRI เพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยโรค และอาจจำเป็นต้องทำการเจาะเอาชิ้นเนื้อที่ตับมาตรวจทางพยาธิวิทยาในบางราย   

 

วิธีการรักษาโรคมะเร็งตับในปัจจุบัน มีวิธีใดบ้าง 

 

แนวทางการรักษามะเร็งตับ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ได้แก่ ขนาด และ จำนวนก้อนในตับ การกระจายของโรค ค่าการทำงานของตับ และสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ป่วย โดยหากเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น สามารถรักษาให้หายขาดได้โดย การผ่าตัดตับเอาก้อนมะเร็งออก (hepatic resection) หรือจี้ทำลายก้อนมะเร็ง (ablation) หรือ การผ่าตัดเปลี่ยนตับ (liver transplantation)   

 

หากเป็นมะเร็งระยะลุกลาม เป้าหมายการรักษาเพื่อชะลอการโตของก้อน และป้องกันการเกิดผลแทรกซ้อนจากมะเร็ง ซึ่งทำได้โดย การฉีดยาเคมีบำบัดและสารอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อน (TACE) หรือ การฉายแสงที่ก้อน (Radiotherapy) หรือ การให้ยาเคมีบำบัดเพื่อประคับประคองมะเร็งตับ (systemic chemotherapy) นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมียามุ่งเป้า (targeted chemotherapy) ที่ได้ผลดีหลายชนิดให้เลือกใช้ ซึ่งสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมาก รวมไปถึงมีผลข้างเคียงต่ำอีกด้วย   

 

เราจะป้องกันมะเร็งตับได้อย่างไร การป้องกันมะเร็งตับที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะตับแข็ง ได้แก่ 

 

  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์
     
  • ลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก และ ออกกำลังกาย เพื่อป้องกันและ รักษาภาวะไขมันพอกตับ
     
  • ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และ ซี โดยงดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสัก การใช้ใบมีดโกน หรือ กรรไกรตัดเล็บร่วมกับผู้อื่น งดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
     
  • สำหรับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือ ซี ควรได้รับการประเมินโดยแพทย์ เพื่อรักษาตามข้อบ่งชี้
     
  • หากยังไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี ควรได้รับการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี
     
  • หากเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับ ควรได้รับการตรวจเช็คเป็นระยะ ตามคำแนะนำของแพทย์
     

 

สนับสนุนข้อมูลโดย พญ.จิตราภา แสนโภชน์ 

แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร  ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร