อาการปวดฟัน 

อาการปวดฟันเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งเมื่อเกิดอาการปวด หรือเสียวฟันมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ก็ควรมาพบทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาก่อนที่อาการจะลุกลามมากขึ้น 

 

โดยทั่วไปสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการปวดฟันได้แก่

 

 1. ฟันผุ โดยส่วนมากฟันผุที่ทำให้คนไข้ปวดมักจะอยู่ในขั้นที่เริ่มมีรูรือช่องให้เศษอาหารเข้าไปติดจนเกิดอาการ โดยเฉพาะเมื่อรูผุลุกลามถึงหรือเข้าใกล้โพรงประสาทฟัน อาการปวดก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยอาจมีทั้งอาการปวดขึ้นมาเองตลอดเวลา หรือปวดบางครั้งเวลาเศษอาหารเข้าไปติดก็ได้ วิธีการรักษาคือต้องมาพบทันตแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่อาการผุลุกลามไปถึงขั้นที่ต้องรักษารากฟันหรือสามารถอุดฟันธรรมดาได้ ซึ่งการวินิจฉัยอาจต้องใช้ภาพถ่ายรังสีร่วมด้วย 
 

2. ฟันสึก เกิดจากการเสียดสี การสบฟันหรือการรับประทานอาการที่มีรสเปรี้ยวหรือเป็นกรดสูง ซึ่งฟันสึกโดยขั้นเริ่มต้นจะทำให้คนไข้มีอาการเสียวฟันเวลาแปรงฟัน หรือเวลาทานน้ำเย็น แต่ในกรณีที่ฟันสึกมากจนเข้าใกล้โพรงประสาทฟัน ก็จะทำให้คนไข้มีอาการเช่นเดียวกับฟันผุลุกลามได้ 
 

3. ฟันร้าวหรือฟันแตก อาจเกิดจากการเคี้ยวโดนของแข็งโดยไม่ระวัง อุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งรอยร้าวอาจจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าได้ แต่ก็สามารถเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวด บวมหรือเป็นหนองได้ 
 

4. ฟันคุด มักมีอาการปวดจากตำแหน่งลึกสุดของฟัน หลังฟันกรามซี่สุดท้าย บางคนอาจมีอาการอ้าปากได้น้อย หรือมีไข้ร่วมด้วย อาจรู้สึกว่ากัดโดนเหงือกด้านในแล้วมีอาการปวด บวมตามมา ซึ่งหากเป็นคนไข้เด็กที่ฟันเพิ่งขึ้น หรือขึ้นไม่เต็มซี่ก็อาจจะเกิดอาการปวดที่คล้ายคลึงกันได้เช่นกัน 
 

5. ฟันที่เคยรักษารากฟันมาแล้วหรืออุดมาแล้วปวดซ้ำ ซึ่งในกรณีนี้อาจเกิดได้จากวัสดุที่อุดเก่าแตกหรือมีรอยรั่ว ทำให้เกิดการผุซ้ำลุกลามอยู่ใต้รอยอุดเดิม อาการปวดจึงอาจกลับมาอีกครั้ง และต้องได้รับการรักษาซ้ำ 
 

6. อาการผิดปกติจากข้อต่อขากรรไกร อาการปวดจากบริเวณหน้าหูหรือขากรรไกรนี้อาจเกิดได้ทั้งสองข้างหรือข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจเกิดจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบดเคี้ยว ปวดหลังจากตื่นนอนเนื่องจากนอนกัดฟัน เป็นต้น อาการปวดจากข้อต่อขากรรไกรอาจจะทำให้คนไข้สับสนว่าเป็นอาการปวดจากฟันหรือฟันคุดได้ 
 

7. ปวดเหงือก คนไข้อาจมีอาการปวดบริเวณเดียวกับฟัน ซึ่งทำให้เข้าใจผิดว่าสาเหตุมาจากตัวฟันได้ อาการปวดเหงือกมักมีอาการปวดตุ้บๆ ปวดหน่วงๆบริเวณเหงือก ไม่ค่อยมีอาการเสียวฟันร่วมด้วยเช่นเดียวกับการปวดฟัน สาเหตุอาจเกิดได้จากคราบแบคทีเรียสะสม หรือคราบหินปูนใต้เหงือก เป็นต้น   

 

ยังมีสาเหตุอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้นที่ทำให้เกิดอาการปวดฟันอีกมากมาย ซึ่งเมื่อมีอาการปวด ควรรีบมาพบทันตแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที   

 

โปรแกรมเหมาจ่ายตรวจสุขภาพฟัน : คลิก   

 

โปรแกรมขัดฟันและเคลือบฟลูออไรด์สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี : คลิก   

 

 

สนับสนุนข้อมูลโดย ทพญ.อติพร จุลศักดิ์ศรีสกุล  

แพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมทั่วไป ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลนวเวช