การรักษารากฟัน
การรักษารากฟัน คือ อะไร? คือ การกำจัดเนื้อเยื่อในฟันที่มีการอักเสบ ติดเชื้อหรือตายแล้วออกไปจากโพรงประสาทฟันและคลองรากฟัน จากนั้นทำการฆ่าเชื้อให้สะอาดเรียบร้อย แล้วจึงอุดคลองรากฟัน
สาเหตุที่ทำให้ต้องรักษารากฟัน
1. ฟันมีการติดเชื้อ เช่น มีฟันผุหรือมีการแตกหักของฟันที่ลึกจนถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้เนื้อเยื่อในฟันติดเชื้อ และการติดเชื้อก็จะลุกลามต่อจากโพรงประสาทฟันผ่านคลองรากฟันไปยังกระดูกและเหงือกรอบรากฟันได้
2. ฟันมีการอักเสบเรื้อรังที่ไม่สามารถหายเป็นปกติ อาจเกิดจากฟันได้รับแรงมากเกินไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การที่ฟันซ้อนเกแล้วทำให้เมื่อเคี้ยวแล้วจะมีฟันบางซี่ที่รับแรงมากกว่าซี่อื่นๆ ก็จะทำให้เนื้อเยื่อในฟันอักเสบเรื้อรังจนเกิดการตายของเนื้อเยื่อในฟันตามมา
3. มีการตายของเนื้อเยื่อในฟัน อาจเกิดจากการการอักเสบที่เรื้อรังไม่หายหรือเกิดจากการกระแทกที่ฟันอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุ ล้มฟันกระแทก บอลกระแทกฟัน เป็นต้น ซึ่งทำให้เส้นเลือดและเส้นประสาทในฟันขาดหรือถูกทำลาย การอักเสบก็จะลุกลามผ่านคลองรากฟันไปยังกระดูกและเหงือกรอบรากฟันได้เช่นกัน
อาการที่มักจะพบในฟันที่ต้องรักษารากฟัน แม้ว่าในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการใดๆเลย แต่เมื่อมีการอักเสบ/ติดเชื้อในฟันและกระดูกรอบรากฟันก็อาจทำให้มีอาการปวดฟันขึ้นเอง(อยู่เฉยๆก็ปวดหรือปวดตอนกลางคืน) เคี้ยวแล้วปวด(ไปโดนแล้วปวด) ปวดหรือเสียวฟันเมื่อดื่มน้ำร้อนหรือน้ำเย็นโดยที่อาการปวดหรือเสียวยังคงเป็นอยู่นานแม้จะหยุดดื่มแล้วก็ตาม นอกจากนี้อาจมีอาการเหงือกบวม มีหนองหรือตุ่มหนองที่เหงือกได้ และในฟันที่ได้รับการกระแทกรุนแรงจนฟันตาย ฟันมักจะมีสีเข้มหรือคล้ำกว่าฟันซี่อื่นๆอย่างชัดเจนได้
ทางเลือกในการรักษา ถ้าฟันได้รับการวินิจฉัยว่ามีการอักเสบที่เรื้อรังจนไม่สามารถหายเป็นปกติหรือเป็นฟันตาย จะมีทางเลือกการรักษา 2 ทาง คือ
1. รักษารากฟัน
2. ถอนฟัน
การรักษารากฟัน มีข้อดี คือ ทำให้สามารถเก็บฟันธรรมชาติไว้ใช้งานได้ ซึ่งรอบๆรากฟันธรรมชาติจะมีเนื้อเยื่อที่ใช้รับความรู้สึกขณะบดเคี้ยวอาหาร ทำให้มีความรู้สึกตอนเคี้ยวอาหารที่ดีกว่าการใส่ฟันเทียมทุกแบบรวมถึงรากฟันเทียมด้วย ข้อเสีย คือ ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการถอนฟัน และมีโอกาสที่ฟันจะแตก/หักได้มากขึ้นเนื่องจากฟันที่ต้องรักษารากฟัน มักมีการสูญเสียเนื้อฟันไปมาก เช่น มีฟันผุใหญ่หรือมีฟันแตก นอกจากนี้ฟันที่รักษารากฟันเรียบร้อยแล้วจะไม่มีเส้นประสาทในฟัน เมื่อเคี้ยวอาหารที่แข็ง/เหนียวมากๆ จะไม่รู้สึกเสียวฟันหรือเจ็บเหมือนฟันธรรมชาติ จึงอาจทำให้ออกแรงเคี้ยวมากเกินไปจนฟันแตกได้ ดังนั้นในฟันที่รักษารากฟันเสร็จแล้วและมีเนื้อฟันเหลือน้อยจึงควรต้องได้รับการใส่เดือยฟันและครอบฟันเพื่อป้องกันการแตกหักของฟัน และทำให้สามารถใช้ฟันต่อไปได้ยาวนานมากขึ้น
การถอนฟัน
- มีข้อดี คือ ค่าใช้จ่ายเฉพาะในส่วนของการถอนฟันจะมีราคาถูกกว่ารักษารากฟัน
- ข้อเสีย คือ ทำให้เคี้ยวได้แย่ลง และอาจทำให้เกิดนิสัยเคี้ยวข้าวข้างเดียวเนื่องจากเคี้ยวข้างที่ถูกถอนฟันไปไม่ถนัด และเมื่อมีช่องว่างไร้ฟัน ฟันที่อยู่รอบๆช่องว่างทั้งซ้าย/ขวา/บน/ล่าง จะล้มเอียงหรือยื่นเข้าหาช่องว่างได้ ซึ่งสามารถทำให้การบดเคี้ยวผิดปกติ จึงแนะนำให้ใส่ฟันเทียมหลังจากถอนฟันเสมอ ซึ่งก็จะทำให้การถอนฟันอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ค่ารักษาถูกกว่ารักษารากฟันมากแล้วก็ได้ เพราะหากใส่ฟันเทียมที่เหมือนฟันธรรมชาติที่สุดอย่างรากฟันเทียม ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงพอๆกันหรืออาจจะสูงกว่าการรักษารากฟันเสียอีก
ดังนั้นหากฟันซี่นั้นเหลือเนื้อฟันมากพอที่จะสามารถบูรณะได้ ก็แนะนำให้รักษารากฟันเก็บไว้มากกว่าถอนฟันค่ะ
อุดก่อนได้ไหม? ลองอุดก่อนได้ไหม? ยังไม่อยากรักษารากฟันหรือถอนฟันเลย ยังไม่ปวดเลยนะ เป็นคำถามที่ผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการใดๆ มักจะถามทันตแพทย์เสมอ แต่ถ้าทันตแพทย์วินิจฉัยได้ชัดเจนแล้วว่าอาการเป็นถึงขั้นต้องรักษารากฟันหรือถอนฟันแล้ว ทันตแพทย์ก็จะไม่อุดให้ เพราะถ้าอุดไป จะเป็นการปิดทางเชื่อมต่อระหว่างรากฟันกับช่องปาก ทำให้การอักเสบ/ติดเชื้อเหลือทางเชื่อมต่อทางเดียวคือรากฟันกับกระดูกและเหงือกรอบรากฟัน ซึ่งจะทำให้คนไข้มีอาการปวด บวม เป็นหนองได้
ขั้นตอนการรักษารากฟัน
1. ใส่ยาชาเพื่อระงับความรู้สึกเจ็บปวด หากฟันยังมีชีวิต(ยังมีเส้นเลือดเส้นประสาทมาเลี้ยง) ทันตแพทย์จะใส่ยาชาให้ก่อน แต่หากฟันไม่มีชีวิตแล้วอาจจะไม่ต้องใส่ยาชาก็ได้
2. ใส่แผ่นยางกั้นน้ำลาย(rubber dam) เพื่อแยกฟันซี่นั้นออกจากน้ำลายและช่องปาก เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคเข้าไปในฟันอีก รวมทั้งช่วยป้องกันไม่ให้ยาฆ่าเชื้อ/อุปกรณ์ในการรักษารากฟันที่จะใช้สัมผัส/หลุดเข้าไปโดนช่องปาก และช่วยป้องกันไม่ให้เครื่องมือต่างๆซึ่งมีขนาดเล็กหลุดลงคอได้ด้วย
3. กำจัดฟันผุ/รอยร้าว และเปิดทางเข้าสู่โพรงประสาทฟันและคลองรากฟัน
4. ขยายคลองรากฟัน เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อในฟันที่อักเสบหรือติดเชื้อออกไป และฆ่าเชื้อโรคโดยใช้น้ำยาล้างคลองรากฟันและการใส่ยาฆ่าเชื้อในคลองรากฟัน
5. อุดคลองรากฟัน โดยปกติแล้วทันตแพทย์จะอุดคลองรากฟันก็ต่อเมื่อผู้ป่วยไม่มีอาการ ตรวจด้วยการเคาะแล้วไม่ปวด และภาพรังสีแสดงการหายจากการอักเสบที่ดีของกระดูกรอบรากฟัน
ดังนั้นจำนวนครั้งที่ผู้ป่วยต้องมารักษา จะขึ้นกับจำนวนคลองรากฟัน ความกว้างหรือตีบของคลองรากฟัน และการติดเชื้อ หากมีการติดเชื้อมากหรือติดเชื้อที่ดื้อยา อาจจะต้องใช้นานขึ้นในการรักษา แต่โดยทั่วไปมักจะใช้เวลารักษารากฟัน 2-3 ครั้ง
รักษารากฟันเจ็บไหม?
1. ระหว่างรักษา โดยทั่วไปจะไม่มีอาการเจ็บหรือปวดระหว่างการรักษารากฟัน เนื่องจากหากทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยอาจจะเจ็บหรือปวด ก็จะฉีดยาชาเพื่อไม่ให้เจ็บปวดระหว่างการรักษา แต่หากมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นระหว่างการรักษาก็อาจเกิดจากมีเครื่องมือขยายคลองรากฟัน/น้ำยาล้างคลองรากฟัน/ยาฆ่าเชื้อเกินออกไปนอกปลายรากฟัน
2. หลังจากรักษารากฟันในแต่ละครั้ง อาจเกิดจากการที่มีเนื้อเยื่อหรือเส้นประสาทเหลืออยู่ในฟัน และหากมีเชื้อโรคถูกดันออกนอกปลายรากฟันระหว่างการรักษา อาจมีอาการอักเสบรอบรากฟันและมีอาการเจ็บได้บ้าง อาการเจ็บจะค่อยๆลดลงและหายได้เอง หากมีอาการปวดมาก สามารถทานยาแก้ปวดได้ หากมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นระหว่างการรักษาหรือหลังการรักษาในแต่ละครั้ง ผู้ป่วยสามารถบอกทันตแพทย์ได้ทันทีเพื่อให้ทันตแพทย์ช่วยพิจารณาใช้ยาหรือวิธีต่างๆในการช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของผู้ป่วยค่ะ
ข้อควรระวัง ระหว่างรักษารากฟันและหลังจากรักษารากฟันเสร็จสิ้นแล้วรอทำครอบฟัน ควรระมัดระวังการใช้งานฟัน โดยควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่แข็งหรือเหนียว เช่น ถั่ว น้ำแข็ง กระดูกอ่อน เป็นต้น เพราะอาจจะทำให้ฟันแตกจนไม่สามารถบูรณะฟันได้และอาจจะต้องถอนฟันออก
สนับสนุนข้อมูลโดย ทันตแพทย์หญิงณัฐธิดา สิริอมราพร
แพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมทั่วไป