ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ความเหมือนที่แตกต่างจากโควิด19

ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น เพราะทั้งไข้หวัดใหญ่รุ่นพี่ และเพื่อนรุ่นน้องอย่างโควิด 19 เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจเช่นกัน แต่ไวรัสที่เป็นสาเหตุการติดเชื้อมาจากไวรัสคนละชนิดกัน ไข้หวัดใหญ่เกิดมาจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่วนโควิด 19 เกิดมาจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่พบปี 2019 และเป็นที่ทราบกันอย่างดีอีกว่าโควิด 19 นั้นสามารถแพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ และเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วพาสีความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยบางส่วนจะมากกว่ามาก แน่นอนการจะวินิจฉัยแยกโรคการติดเชื้อ 2 ชนิดออกจากกัน ลำพังโดยดูจากประวัติ อาการและอาการแสดงคงไม่เพียงพอที่บอกได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าจะต้องทำการตรวจการทดสอบโรคทุกครั้งหากมีอาการที่ชวนสงสัย ในวันนี้จะกล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานของโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อนรุ่นพี่ซึ่งกำลังจะมาอินเทรนด์ช่วงหน้าฝนที่กำลังจะเข้ามาในประเทศไทยนี้ก่อน   

 

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่รู้จักกันดีสำหรับคนไทย และเป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก เป็นแล้วสามารถเป็นอีกได้ โดยไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้ง่าย จึงทำให้มีการระบาดของโรคเกิดขึ้นได้ ไข้หวัดใหญ่ถึงแม้จะไม่มีความรุนแรงสำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง แต่ก็มีผลทำให้ไม่สบาย ไม่สามารถไปทำงาน หรือไปโรงเรียนได้ ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ และสังคม โรคจะเกิดความรุนแรงในคนที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือภูมิต้านทานต่ำ 

 

ประเทศไทยพบไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งจะตรงกับกับระยะเวลาการเปิดภาคเรียนแรก ส่งผลให้มีการระบาดมากในสถานศึกษา หลังจากนั้นจะมาพบมากอีกครั้งในช่วงฤดูหนาวหลังปีใหม่เป็นต้นไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่การระบาดในช่วงนี้มักจะไม่สูงเท่ากับกับการระบาดในช่วงฤดูฝน ในช่วง 2 ปีที่มีอาการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด 19 เราพบว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ และโรคไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ลดลงอย่างมาก ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่น่าจะมีประเด็นของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนที่ลดลง การใส่หน้ากากตลอดเวลา การดูแลความสะอาดมือ  และการเว้นระยะห่างมากขึ้น   

 

 

การติดต่อโรคของไข้หวัดใหญ่ 

 

จะเป็นการติดต่อจากละลองฝอยขนาดใหญ่ และขนาดเล็กจากผู้ที่ติดเชื้อแล้ว หรือไปสัมผัสสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจแล้วไปสัมผัสโดนเนื้อเยื่อบุตำแหน่งต่างๆ เช่น ตา จมูก ปากหรือหายใจเข้าไป โดยระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อไวรัสอยู่ที่ 1-4 วันหลังจากสัมผัสโรค (โดยเฉลี่ยประมาณ 2 วัน) เชื้อจะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นและสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ตั้งแต่วันแรก ก่อนมีอาการ จนถึงช่วง 24-48 ชั่วโมงหลังการติดเชื้อ หลังจากนั้นปริมาณเชื้อจะลดลงจนไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้ที่ 5-10 วัน แต่ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยอ้วน หรือผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาจตรวจเชื้อพบได้นานเป็นหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ก่อนโรคในคน มีสาเหตุมากจากเชื้อ Human influenza virus A, B, C โดยชนิด C พบได้น้อยจึงไม่ได้กล่าวถึง เริ่มต้นจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จะพบอยู่ 2 ชนิดย่อยที่สำคัญคือ ชนิด H1N1 และอีกชนิดคือ H2N3 ที่ยังวนเวียนก่อโรคไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์มาตลอด ส่วนที่เหลือมากกว่า 130 สายพันธุ์จะก่อโรคในสัตว์ เช่น นก, หมู และ อื่นๆ ในอนาคตยังพยากรณ์ไม่ได้ว่าจะมีการติดต่อ และมาระบาดในคนเมื่อไหร่ โดยจากประวัติการระบาดในอดีตทที่ผ่านมาพบว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A นั้นได้เกิดมีการระบาดใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง 

 

โดยครั้งล่าสุด ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ เมื่อปี ค.ศ. 2009 เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 2009 ซึ่งสายพันธุ์นี้ยังคงมีการระบาดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สามารถกลายพันธุ์ได้ทีละเล็กละน้อยจึงทำให้สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานที่มีอยู่ได้  จึงทำให้มีการติดเชื้อซ้ำได้ ส่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B เป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่ในคนเท่านั้น ยังไม่พบการระบาดใหญ่ มี  2 สายพันธุ์ได้แก่ สายพันธุ์ Victoria และ Yamagata   

 

 

อาการของผู้ติดเชื้อ 

 

ส่วนใหญ่จะมีอาการจับไข้เฉียบพลัน วัดได้ตั้งแต่ 37.8 จนสูงถึง 40 องศาเซลเซียสได้  ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไอแห้งๆ และอาจพบอาการร่วมอื่นๆเพิ่มได้เช่น อาการอ่อนเพลีย คัดจมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ ในผู้ป่วยเด็กบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งอาการดังกล่าวไม่ค่อยพบในผู้ป่วยผู้ใหญ่ โดยอาการและความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไปในแต่ละคน ยกอย่างเช่น ในผู้ป่วยสูงอายุ อายุมากกว่า 65 ปี หรือ ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำอาจจะมาด้วยอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกโคลงเคลง โดยมีอาการทางระบบทางเดินหายใจเล็กน้อย ไม่มีไข้ แต่จะมีอาการทางด้านซึมลงมากกว่าได้   

 

กลุ่มเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ 

 

  • เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
     
  • ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
     
  • สตรีตั้งครรภ์
     
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 kg/m2
     
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหืด, โรคถุงลมอุดกั้นเรื้อรัง, โรคหัวใจ,โรคไต, โรคตับ, โรคเบาหวาน
     
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น กินยากดภูมิต้านทาน เคมีบำบัด รังสีบำบัด หรือโรคที่ทำให้ระบบภูมิต้านทานต่ำ เช่นโรคมะเร็ง, โรคเติดเชื้อเอชไอวี
     

เมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยน่าจะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้ว แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย และตรวจ swab เข้าทางจมูก หรือ โพรงจมูกด้านหลัง เพื่อยืนยันการวินิจฉัย หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา โดยทั่วไปถ้าเป็นผู้ป่วยที่สุขภาพแข็งแรงดี แพทย์จะให้รักษาตามอาการ ประคับประคองรอเวลาให้ร่างกายกำจัดเชื้อไวรัสให้หมดไปซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน สำหรับในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น การดูแลจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนโดยเฉพาะภาวะปอดอักเสบ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะหากมีความจำเป็นในกรณีที่เข้าสู่วันที่ 2-3 แล้วอาการไม่ดีขึ้น ไข้ ไอหอบ ที่จะบ่งบอกถึงอาการแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ในบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัสเพื่อลดจำนวนของไวรัสในการที่จะเข้าไปทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจภายใน 48 ชั่วโมงแรก 

 

สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ไม่แตกต่างไปจากการป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ที่เราทราบกันเป็นอย่างดีแล้ว คือ ผู้ป่วยควรพักอยู่ที่บ้าน รักษาระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น หมั่นล้างมือ ใช้แอลกอฮอล์เจล และเวลาไอหรือ จามต้องปิดปากและจมูก ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่จะต้องดูแลสุขอนามัย และทำร่างกายให้แข็งแรง หมั่นล้างมือก่อนสัมผัสใบหน้า รับประทานอาหารที่สะอาดหรือที่เรียกว่า กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ แอลกอฮอล์สามารถทำลายเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ การใช้เจลแอลกอฮอล์ในกรณีที่ไม่มีน้ำ สามารถทำลายเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ 

 

ไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำเป็นต้องให้ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง สำหรับประเทศไทยควรให้วัคซีนก่อนเข้าสู่ฤดูฝน คือช่วงปลายเดือนเมษายน จนถึงพฤษภาคมของทุกปี สายพันธุ์ของไวรัสที่อยู่ในวัคซีนจะใช้สายพันธุ์ของวัคซีนซีกโลกใต้เป็นหลัก 

 

ท่านผู้อ่านคงจะได้ทราบข้อมูลพื้นฐานของโรคไข้หวัดใหญ่นี้แล้ว ถ้าเรามองภาพไปในทิศทางเดียวกัน ในสังคมปัจจุบันเราคงหลีกเลี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด 19 ออกจากตัวเราไปไม่ได้ เพราะทั้งคู่อยู่ใกล้ตัวท่านผู้อ่านทุกคนมาก การป้องกันความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด นอกจากเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย และการรักษาระยะห่างทางสังคมแล้ว อย่าลืมมารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีด้วยนะครับ จากที่จะติดเชื้อแล้วป่วยมากจะได้บรรเทาจากที่ติดเชื้อป่วยเบาอาจจะไม่มีอาการเลยก็เป็นได้ อย่างไรเสียไม่มีท่านผู้อ่านคนไหนอยากติดเชื้อทั้งคู่พร้อมกัน เพราะนั่นอาจจะเป็นหายนะทางด้านสุขภาพของท่านได้ ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ครับ   

 

สนับสนุนข้อูลโดย : นพ. ณฐนัท ช่างเงินชญช์

แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช  

 

คลิก > วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธ์ุ

 

คลิก > นัดหมาย นพ.ณฐนัท ช่างเงินชญช์