โรคตาแห้ง (Dry Eye)

 

น้ำตาเป็นของเหลวที่ถูกสร้างขึ้นจากต่อมน้ำตาที่อยู่บริเวณเนื้อเยื่อที่คลุมบนตาขาว ด้านในของเปลือกตา และโพรงกระดูกเบ้าตาบริเวณหางคิ้ว (ภาพที่ 1) ในภาวะปกติน้ำตาจะถูกสร้างออกมาหล่อลื่นลูกตาตลอดวัน และมีบางส่วนจะถูกสร้างเฉพาะเวลาที่มีอารมณ์ต่าง ๆ เช่น เจ็บปวด เคืองตา ดีใจหรือเสียใจ น้ำตามีความสำคัญในการช่วยชำระล้างฝุ่นละออง และเชื้อโรคที่มาเกาะลูกตา หล่อเลี้ยงผิวดวงตาไม่ให้แห้ง ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้แก่กระจกตา และนอกจากนั้นยังทำหน้าที่เสมือนเป็นสารช่วยหล่อลื่น ลดการครูดหรือเสียดสีระหว่างหนังตากับเยื่อตาได้เป็นอย่างดี

 

 

ตาแห้ง คือ ภาวะที่ปริมาณน้ำตาที่มาหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นกับดวงตาและเคลือบกระจกตาดำไม่เพียงพอ พบในผู้ป่วยทุกเพศและทุกวัย แต่ที่พบบ่อยมากคือ ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคตาแห้งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเป็นปัญหาหลักที่พบร่วมกับโรคทางตาหรือโรคทางกายอื่นได้ด้วย สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ในปัจจุบันแนวโน้มของผู้ป่วยโรคตาแห้งกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

 

 

ภาพที่ 1 แสดงต่อมน้ำตาและการไหลของน้ำตาลงไปยังโพรงจมูก

 

 

สาเหตุของตาแห้ง

 

แม้ว่าโรคตาแห้งจะเป็นโรคที่ไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่อาการคัน ระคายเคืองนัยน์ตา และความรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมคล้ายเม็ดทรายอยู่ในตาตลอดเวลานั้น เป็นสิ่งที่สร้างความรำคาญและความทรมานให้กับการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

โดยปกติอาการตาแห้งจะเกิดขึ้นกับดวงตาทั้งสองข้าง อาการดังกล่าวจะรุนแรงมากขึ้นเมื่ออยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือโดนลมแรง ภาวะตาแห้งมักพบในผู้หญิงที่มีอายุมาก ซึ่งการสร้างน้ำตาจะค่อย ๆ ลดลง โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย 

 

 

สาเหตุของตาแห้งโดยทั่วไป ได้แก่ 

 

1. อายุมากจะมีการขับน้ำตาออกมาน้อย พบในผู้หญิงได้บ่อยกว่าผู้ชาย
 

2. ภาวะการอักเสบเรื้อรังของตา (ภาพที่ 2) และเปลือกตา
 

3. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะในเพศหญิง
 

4. สภาวะแวดล้อมของที่ทำงานและที่อยู่อาศัย เช่น อากาศร้อน อากาศแห้ง ลมแรง ลมจากเครื่องปรับอากาศ ควันบุหรี่และเขม่าควัน
 

5. การอ่านหนังสือหรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
 

6. การใส่ contact lens
 

7. การผ่าตัดตาบางชนิด เช่น การผ่าตัดกระจกตาโดยวิธี LASIK
 

8. การขาดวิตามินเอ
 

9. ยาบางชนิด อาจทำให้กระบวนการสร้างน้ำตาลดลง เช่น ยากลุ่ม Antihistamine ที่ใช้รักษาโรคหวัด และโรคภูมิแพ้ ยากล่อมประสาท ยาทางจิตเวช ยาลดความดันโลหิตสูงที่ออกฤทธิ์โดยการขับปัสสาวะ เป็นต้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ก็สามารถใช้ยาต่อไปได้ แต่ต้องรักษาอาการตาแห้งร่วมด้วย
 

10. ผู้ป่วยที่มีเยื่อตาอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อที่รุนแรงและเรื้อรัง หรือจากการแพ้ยาที่เรียกว่า “Stevens-Johnson Syndrome” การอักเสบอาจทำลายต่อมสร้างน้ำตาที่บริเวณเยื่อตา ทำให้เกิดตาแห้งชนิดรุนแรงได้
 

11. โรคทางกายบางอย่างที่มีภาวะตาแห้งร่วมด้วย เช่น “Sjogren's Syndrome” หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ “Sicca Syndrome” ซึ่งมีอาการตาแห้งร่วมกับข้ออักเสบและปากแห้ง, โรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง (autoimmune diseases)
 

 

 

ภาพที่ 2 แสดงอาการตาแดงหรือตาอักเสบที่เกิดจากภาวะตาแห้ง

 

นอกจากลักษณะอาการที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น กระจกตาอาจถูกครูดจากการเสียดสีเพราะขาดน้ำตาหล่อลื่น (ภาพที่ 3) อาจทำให้กระจกตาอักเสบ เป็นแผลที่กระจกตา กระจกตาติดเชื้อและสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด จักษุแพทย์จะวินิจฉัยโรคตาแห้งได้โดยการซักประวัติ การตรวจตาอย่างละเอียดและบางครั้งอาจใช้ การทดสอบโดยการวัดปริมาณน้ำตาร่วมด้วย

 

 

ภาพที่ 3 แสดงกระจกตาคนปกติซึ่งมีฟิล์มน้ำตาเคลือบอยู่โดยทั่ว (ซ้าย) และในภาวะตาแห้งซึ่งฟิล์มน้ำตา มีการแตกตัวเร็วกกว่าปกติ (ขวา)

 

 

การรักษา

 

1. หยอดน้ำตาเทียม

 

2. หลีกเลี่ยงภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อดวงตา เช่น อากาศร้อน อากาศแห้ง และลมแรง

 

3. เมื่ออ่านหนังสือหรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน แนะนำให้หยุดพักสายตาและกระพริบตาบ่อย ๆ

 

4. ดื่มน้ำมาก ๆ

 

5. เมื่อออกไปข้างนอก ควรสวมแว่นกันแดดเพื่อกันแสงแดดและกันลม

 

6. ในกรณีที่ตาแห้งมาก จักษุแพทย์อาจต้องใช้วิธีปิดท่อระบายน้ำตา เพื่อให้มีน้ำตาหล่อเลี้ยงตาเพิ่มขึ้นโดยอาจเป็นแบบชั่วคราวหรือถาวร ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

 

 

 

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. ณฐมน ศรีสำราญ

จักษุแพทย์เฉพาะทางต้อหิน โรงพยาบาลนวเวช