โรคภูมิแพ้ที่ตา
โรคภูมิแพ้ที่ตา เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากตาเป็นอวัยวะที่มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ตลอดเวลา และมีเส้นเลือดไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก จึงทำให้สามารถตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ได้ง่าย
สาเหตุของโรคภูมิแพ้ที่ตา
เกิดจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่น ขนสัตว์ สะเก็ดผิวหนังของสัตว์ เชื้อรา ควันบุหรี่ ใยผ้า ยา เครื่องสำอาง สารหรือกลิ่นเคมี น้ำหอม ผงซักฟอกที่ใช้ในครัวเรือน แม้แต่ยาหยอดตาที่ใช้รักษาโรคตา น้ำยาที่ใช้ล้าง เก็บ หรือทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ ก็สามารถก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ที่ตาได้เช่นกัน ในประเทศไทยพบว่า สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ ไรฝุ่น แมลงสาบ และละอองเกสรดอกไม้ รวมถึงต้นหญ้าอื่น ๆ ตามลำดับ สารก่อภูมิแพ้เหล่านี้จะละลายในน้ำตาและเข้าสู่เยื่อตา ซึ่งเนื้อเยื่อนี้จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างสารต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ในเวลาต่อมา
จากการศึกษาความชุกของโรคภูมิแพ้โดยรวม พบว่า 30 - 40% ของประชากรโลกเป็นโรคภูมิแพ้ อย่างน้อย 1 ชนิด โดยพบมากในกลุ่มคนอายุน้อย และมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคเพิ่มขึ้นทุกปี ในเด็กมักพบโรคภูมิแพ้ที่ตา ร่วมกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ความชุกของโรคภูมิแพ้ที่ตาในผู้ใหญ่นั้น พบได้ประมาณ 15 - 20% และอาจสูงถึง 40% ในบางการศึกษา ดังนั้นโรคภูมิแพ้ที่ตาจึงถือเป็นอีก โรคหนึ่งที่สำคัญที่ควรต้องระวังและเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง
อาการโดยทั่วไปที่มักนำผู้ป่วยภูมิแพ้ที่ตามาพบแพทย์
ได้แก่ คันตา ขยี้ตา หรือกะพริบตาถี่ ๆ และอาการสำคัญที่พบเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ คือ คันตามาก อาการอื่น ๆ ได้แก่ ตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เยื่อตาบวม มีขี้ตา เป็นเมือกสีขาว ตาพร่ามัวลง หนังตาตก โดยเปลือกตาอาจบวมหรือเป็นปกติก็ได้ อย่างไรก็ตาม กระจกตามักจะปกติ นอกจากนั้นอาจมีอาการ ทางจมูกร่วมด้วย เช่น คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล และพบร่วมกับโรคภูมิแพ้ที่อื่นได้ เช่น โรคจมูกอักเสบ หอบหืด หรือผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้ป่วยได้สัมผัสกับสิ่งที่ตนแพ้เท่านั้น ดังนั้นผู้ป่วยจึงมักมี อาการเป็น ๆ หาย ๆ ตามช่วงเวลาที่ผู้ป่วยสัมผัสสิ่งนั้น ๆ ในช่วงที่หายก็จะเป็นปกติและไม่มีอาการใด ๆ เลย
การรักษาที่สำคัญที่สุดของโรคภูมิแพ้ที่ตา คือ
- การบ่งชี้สารก่อภูมิแพ้ให้ได้ และพยายามหลีกเลี่ยง สารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ เช่น อยู่ในที่ร่มและปิดหน้าต่างเมื่อเกิดภาวะละอองเกสรฟุ้งในอากาศสูง โดยเฉพาะช่วงสายและตอนเย็น
- หมั่นทำความสะอาด ที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง ตุ๊กตาที่อยู่บนเตียงบ่อย ๆ หรือแม้แต่บ้าน เพื่อลดโอกาสสัมผัสกับไรฝุ่น, ใช้ผ้าคลุมเตียงและเครื่องนอนที่กันไรฝุ่นได้
- ใช้ผ้าเปียกทำความสะอาดพื้นผิว ซึ่งจะดีกว่าการปัดหรือกวาดฝุ่นเพียงอย่างเดียว
- ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด เพื่อป้องกันแมลงสาบ
- กำจัดเชื้อราทุกชนิดในบ้าน
- หมั่นตรวจเช็คและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ, ใช้เครื่องฟอกอากาศ
- ล้างมือและทำความสะอาดร่างกาย เมื่อสัมผัสกับสัตว์ที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้
- สวมแว่นตาที่ปกป้องดวงตาให้มิดชิดเมื่อออกจากบ้าน เพื่อลดโอกาสสัมผัสกับละอองเกสรดอกไม้หรือเชื้อรา โดยเฉพาะแบบโค้งอ้อมมาปิดที่ด้านข้าง ซึ่งจะช่วยป้องกันได้มากขึ้น
- ลดการใส่คอนแทคเลนส์ในช่วงที่มีภูมิแพ้ตามฤดูกาล ทำความสะอาดทุกวัน และเปลี่ยนเป็นใช้แบบรายวัน
- หลีกเลี่ยงการขยี้ตาเมื่อมีอาการคัน เนื่องจากจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้มากขึ้น และทำให้อาการแย่ลง
ยารักษาที่อาจต้องใช้เมื่อมีอาการภูมิแพ้ที่ตานั้น มี 3 ชนิดหลักๆ ได้แก่
1. ยาต้านสารฮีสตามีน (Antihistamine) อาจเป็นยาหยอดตาหรือยารับประทานก็ได้ ข้อควรระวังของกลุ่มยาต้านสารฮีสตามีน คือ ยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดภาวะต้อหินเฉียบพลันในผู้ป่วยที่เป็นต้อหินชนิดมุมแคบ แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ก็ไม่เป็นข้อห้ามของการใช้ยาชนิดนี้ สามารถใช้ได้ถ้าจำเป็น ด้วยความระมัดระวัง และห้ามใช้ในผู้ที่มีความดันตาสูง
2. ยาระงับการหลั่งสารจากแมสต์เซลล์ (Mast cell stabilizer) ที่ก่อให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ชนิดหยอดตา ในปัจจุบันมียาหยอดตาหลายยี่ห้อในท้องตลาดที่มีส่วนผสมของ ยาต้านสารฮีสตามีนและยาระงับการหลั่งสารจากแมสต์เซลล์ในขวดเดียวกัน ทำให้สะดวกต่อการใช้มากยิ่งขึ้น
3. ยาสเตียรอยด์ (Steroids) ชนิดหยอดตา ให้ผลการรักษาที่ดีมาก มักใช้ในรายที่มีอาการรุนแรง เรื้อรัง หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น การใช้ในระยะยาวอาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้เกิดโรคต้อหิน โรคต้อกระจก และเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อที่ตาได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของจักษุแพทย์เท่านั้น
ยาชนิดอื่น เช่น น้ำตาเทียม (Artificial tears) ช่วยชะล้างสารก่อภูมิแพ้ออกจากตา, ยาบีบหลอดเลือด (Vasoconstrictors) ใช้ลดอาการแดง ช่วยลดอาการคันได้น้อยมากหรือไม่ช่วยเลย ซึ่งการใช้ระยะยาวอาจทำให้ตากลับมาแดงอีกได้ จึงเหมาะกับการใช้ระยะสั้นเท่านั้น และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) ที่ช่วยลดอาการคันก็สามารถใช้รักษาโรคภูมิแพ้ที่ตาได้เช่นกัน และจะต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. ณฐมน ศรีสำราญ
จักษุแพทย์เฉพาะทางต้อหิน โรงพยาบาลนวเวช