โรคต้อหินในเด็ก (Childhood Glaucoma)

โรคต้อหินคืออะไร?

 

ต้อหิน เป็นกลุ่มโรคหนึ่งของเส้นประสาทตาที่มีลักษณะความผิดปกติเฉพาะ เกิดได้จากหลายสาเหตุและเกี่ยวข้องกับความดันภายในตาเป็นหลัก โรคต้อหินในผู้ใหญ่อาจพบความดันในตาสูงหรือเป็นปกติได้ แต่ในเด็กมักพบความดันในตาสูงร่วมด้วยเสมอ ภาวะความดันในตาที่สูงนี้มีผลทำให้เกิดการปวดตาอย่างรุนแรง ปวดศีรษะ และการมองเห็นลดลง โดยจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระดับความดันในตา ขณะที่ความดันในตาสูงจะมีการกดและทำลายขั้วประสาทตา รวมถึงเส้นใยประสาทตาร่วมด้วย (ภาพที่ 1 และ 2) การทำลายดังกล่าวมีผลทำให้สูญเสียลานสายตา หรือความกว้างของการมองเห็นแบบถาวร และไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ แม้ความดันในตาจะลดลงภายหลังแล้วก็ตาม โรคต้อหิน เมื่อเป็นแล้วจะมีการทำลายขั้วประสาทตาและเส้นใยประสาทตาแบบถาวรอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากไม่ได้รับการวินิฉัยหรือตรวจพบแล้ว แต่ไม่ได้ทำการรักษาหรือรักษาแต่ไม่ต่อเนื่อง ควบคุมโรคได้ไม่ดี อาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ในที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 1 แสดงขั้วประสาทตาในคนปกติ (ซ้าย) และขั้วประสาทตาในคนที่เป็นโรคต้อหิน (ขวา)

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 2 จากซ้ายไปขวา แสดงลักษณะการทำลายของขั้วประสาทตาโดยโรคต้อหินอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

 

โรคต้อหินในเด็กต่างจากผู้ใหญ่หรือไม่?

 

โรคต้อหินในทารกและเด็กเล็ก ถือเป็นกลุ่มโรคย่อยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความพิเศษทั้งในแง่ของการเกิดโรค ลักษณะโรค การดำเนินโรค หรือแม้แต่วิธีการรักษา อาจพบตั้งแต่แรกคลอดหรือภายหลังก็ได้ พบอุบัติการณ์ของโรคในเด็กแรกเกิดประมาณ 1:10,000-1:20,000 โดยพบได้ในเด็กทุกเชื้อชาติ มักพบในเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และ 75% ของผู้ป่วยมักเป็นทั้งสองตา

 

 

สาเหตุของโรคต้อหินในเด็ก

 

เกิดได้จากหลายสาเหตุ จากการศึกษาพบว่า 90% ของผู้ป่วยเป็นโรคนี้ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีประวัติในครอบครัวนำมาก่อน อย่างไรก็ตามโรคต้อหินสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้เช่นกัน แต่พบเป็นส่วนน้อย และเป็นการสืบทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย (autosomal recessive) ที่อาจมีการแสดงออกของลักษณะทางพันธุกรรมในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป หรืออาจมีอิทธิพลของสิ่งภาพแวดล้อมมาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ การแต่งงานในเครือญาติก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ และอาจมีส่วนทำให้เกิดโรค การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อรักษาโรค เช่น โรคภูมิแพ้ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม อาจทำให้เกิดโรคต้อหินได้เช่นกัน

 

 

อาการของโรคต้อหินในเด็ก โดยมากบิดามารดามักจะพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ในขวบปีแรก ด้วยอาการสำคัญและชวนให้สงสัย 3 ประการ คือ

 

  • มีน้ำตาไหล
     
  • แพ้แสง
     
  • หนังตากระตุก
     

นอกจากนั้นอาจพบกระจกตาบวมและขุ่นร่วมด้วยได้ในกรณีที่เป็นมาก อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการเฉพาะของโรคต้อหิน แต่เมื่อตรวจเพิ่มเติมและพบมีความผิดปกติ เช่น กระจกตาที่ใหญ่, รอยฉีกขาดในชั้นเนื้อเยื่อของกระจกตา (ภาพที่ 3), ความดันในลูกตาสูง, ช่องหน้าลูกตาลึก และลูกตาใหญ่ ก็จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้ เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วมักพบขั้วประสาทตาที่ผิดปกติร่วมด้วยเสมอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 3 แสดงกระจกตาที่บวมและมีรอยฉีกขาดในชั้นเนื้อเยื่อของกระจกตาในเด็กที่เป็นโรคต้อหิน

 

อย่างไรก็ตาม อาการ 3 ประการข้างต้นอาจเกิดในโรคอื่นได้ เช่น การอุดตันของท่อน้ำตา (ภาพที่ 4), ม่านตาอักเสบ, กระจกตาเสื่อม, ได้รับการบาดเจ็บขณะคลอด ดังนั้นการวินิจฉัยแยกโรคจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ รวมถึงการซักประวัติของโรคต้อหินในครอบครัวและการแต่งงานในเครือญาติด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 4 แสดงอาการน้ำตาไหลที่เกิดจากท่อน้ำตาอุดตัน ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึง แต่ไม่ได้เกิดจากโรคต้อหิน

 

 

การรักษาโรคต้อหินในเด็ก

 

แม้ว่าการรักษาโรคต้อหินในเด็กจะมีทั้งการใช้ยาและการผ่าตัด แต่วิธีการรักษาหลัก คือ การผ่าตัด ซึ่งมีอยู่หลายวิธี และต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ยาหยอดตามักใช้ระหว่างรอผ่าตัดหรือกรณีหลังผ่าตัดที่พบความดันในตายังคงสูงอยู่  เพื่อช่วยควบคุมระดับความดันในตาให้เป็นปกติและชะลอโรค การใช้ยาหยอดตารักษาโรคเพียงวิธีเดียว มักพบว่าไม่ค่อยได้ผล

 

 

เมื่อสงสัยโรคต้อหิน ควรทำอย่างไร?

 

การตรวจพบหรือวินิจฉัยโรคต้อหินได้แต่เนิ่น ๆ มีความสำคัญและมีผลต่อผลลัพธ์ของการรักษามาก ๆ สำหรับเด็กที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น บิดามารดาหรือผู้ปกครองควรพามารับการตรวจแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง การรักษาที่ทันท่วงทีและช่วยลดความรุนแรงของโรค

 

การรักษาอย่างต่อเนื่องจะช่วยชะลอโรคและเก็บรักษาการมองเห็นที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น ทั้งนี้ แนะนำให้บิดามารดาและพี่น้องของเด็กที่เป็นโรคต้อหิน ควรมารับการตรวจด้วยเช่นกัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโรคต้อหินแฝงอยู่ในครอบครัว

 

อาการสำคัญที่ทำให้โรคต้อหินมักถูกละเลย ถูกมองข้าม หรือได้รับการตรวจรักษาช้า คือ การที่เด็กมีลูกตาหรือตาดำโต (ภาพที่ 5) เพราะมีการขยายขนาด สืบเนื่องจากความดันในลูกตาสูงขึ้น แต่บิดามารดากลับมองว่า การที่มีตาโตเป็นลักษณะที่ดี น่ารัก และไม่ตระหนักว่าเป็นภาวะอันตราย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 5 แสดงให้เห็นถึงกระจกตาหรือบริเวณตาดำของตาซ้ายซึ่งเป็นโรคต้อหินและมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า เมื่อเทียบกับตาขวาซึ่งปกติ

 

 

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. ณฐมน ศรีสำราญ

จักษุแพทย์เฉพาะทางต้อหิน ประจำโรงพยาบาลนวเวช