โรคตากุ้งยิง

 

เป็นการอักเสบเฉพาะที่แบบเฉียบพลันของเปลือกตาบริเวณต่อมไขมันเล็ก ๆ ทำให้มีการหนาตัวของต่อมไขมัน และเกิดการคั่งของของเหลวที่สร้างออกมา ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้อักเสบเป็นก้อนหรือฝีที่เปลือกตา เรียกว่า “กุ้งยิง” (Hordeolum, Stye) ทำให้มีอาการบวม แดง ร้อน และอาจมีอาการปวด กุ้งยิงอาจมีลักษณะที่คล้ายกันกับ Chalazion ซึ่งเป็นการอักเสบเฉพาะที่เหมือนกัน แต่ต่างกันที่ Chalazion เป็นแบบเรื้อรัง ไม่มีการติดเชื้อ มีลักษณะการอักเสบเป็นแบบ lipogranulomatous และไม่มีอาการปวด

 

กุ้งยิงพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงเท่า ๆ กัน พบได้ทุกวัยและพบในผู้ใหญ่ได้มากกว่าเด็ก อาจเป็นตาเดียวหรือสองตาได้ในคราวเดียวกันและในตาข้างเดียว อาจเป็นได้มากกว่าหนึ่งตำแหน่ง พบได้ทั้งด้านนอกและ/หรือด้านในของเปลือกตา นอกจากนั้นกุ้งยิงยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้

 

 

 

ถ้าปล่อยกุ้งยิงไว้และไม่รักษา ก้อนนี้อาจแตกได้ นอกจากนี้ ถ้าการอักเสบลุกลามไปยังเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบ ๆ ขยายเป็นวงกว้าง หรือที่เรียกว่า Preseptal cellulitis ได้

 

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดกุ้งยิง

 

กุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย บางรายอาจเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันที่เปลือกตานำมาก่อน แล้วเกิดการติดเชื้อที่มีอยู่ปกติในบริเวณนั้นตามมา เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกุ้งยิงส่วนใหญ่ได้แก่ เชื้อ Staphylococcus aureus

 

 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นกุ้งยิง ได้แก่

 

  1. ประวัติเปลือกตาอักเสบเรื้อรัง (Chronic blepharitis)
     
  2. ต่อมไขมันที่ตาทำงานผิดปกติ (Meibomian gland dysfunction)
     
  3. โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชียที่ตา (Ocular rosacea)
     

 

 

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ได้แก่

 

1. เปลือกตาไม่สะอาด มักเกิดจากการขยี้ตาบ่อย ๆ
 

2. ใช้เครื่องสำอางแล้วล้างออกไม่หมด หรือล้างไม่สะอาด
 

3. ใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือไม่สะอาด

 

 

การวินิจฉัย

 

ทำโดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย ไม่จำเป็นต้องเพาะหาเชื้อโรคในผู้ป่วยทุกราย

 

 

การรักษา

 

กุ้งยิงในระยะแรกที่มีอาการไม่มากอาจหายได้เองภายใน 1-2 อาทิตย์ ลักษณะของเปลือกตาที่อักเสบแต่ยังไม่มีหนอง รักษาโดยการประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นวันละ 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อช่วยลดอาการบวม เจ็บ และเป็นการทำให้รูเปิดของต่อมไขมันที่เปลือกตาไม่อุดตัน ในขณะทำการประคบให้หลับตาไว้ การใช้ยาควรได้รับการสั่งยาโดยแพทย์ ยาที่ใช้มักเป็นยาปฏิชีวนะหยอดตา ป้ายตา และบางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะรับประทานร่วมด้วย

ถ้ามีตุ่มหนองเกิดขึ้นแล้วไม่ควรบีบหนองที่เปลือกตาออกเอง เพราะอาจทำให้อักเสบมากกว่าเดิมได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเจาะและขูดเอาหนองออก รวมทั้งใช้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีกประมาณ 1 อาทิตย์ หรือจนกว่าจะหายอักเสบ ในบางรายอาจเป็นซ้ำได้ถ้าขูดหนองออกไม่หมด หรือการอักเสบยังไม่หายดี หลังจากเจาะกุ้งยิงแพทย์มักปิดตาข้างนั้นไว้ เพื่อห้ามเลือดและช่วยลดอาการบวม ไม่ควรขับรถในช่วงนั้นเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ระหว่างที่เป็นกุ้งยิงควรรักษาความสะอาดบริเวณที่เป็น ล้างมือบ่อย ๆ งดใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตา และหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์

ในส่วนของ Chalazion นั้น ใช้วิธีการรักษาโดยการเจาะและขูดออก รวมถึงการใช้ยาเช่นเดียวกันกับกุ้งยิง การประคบอุ่นไม่ช่วยให้หายขาด

 

 

การป้องกัน

 

  • ดูแล รักษาความสะอาดบริเวณเปลือกตาและใบหน้า
     
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณเปลือกตาหรือขยี้ตาบ่อยๆ
     
  • รีบทำการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นเพียงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้การอักเสบเป็นมากขึ้น
     

 

 

กุ้งยิง เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ อาจป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ถ้าระมัดระวังในเรื่องของสุขอนามัย อย่างไรก็ตาม กุ้งยิงไม่ใช่โรคร้ายแรงและไม่เป็นอันตรายต่อดวงตา สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาหยอดตา ยาป้ายตา และ/หรือการรับประทานยาปฏิชีวนะโดยทั่วไป มักรักษาให้หายได้ภายใน 1 สัปดาห์ ในกรณีที่กุ้งยิงเป็นนานผิดปกติหรือเป็นซ้ำบ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

 

 

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. ณฐมน ศรีสำราญ

จักษุแพทย์เฉพาะทางต้อหิน โรงพยาบาลนวเวช