เคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy)

วัตถุประสงค์ของการทำคีโม 

 

หลังผ่าตัดหลังฉายแสง  เพื่อให้หายขาดจากมะเร็ง โดยเคโมจะไปทำลายเซลล์มะเร็งที่มองไม่เห็น ที่หลงเหลืออยู่หลังผ่าตัดหรือฉายแสงเพื่อเพิ่มโอกาสหายขาดป้องกันโรคกลับเป็นซ้ำ ให้พร้อมการฉายแสง  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการฉายแสงในการทำลายเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่อยู่ในตำแหน่งที่ผ่าไม่ได้ หรือผ่าไม่หมด เพื่อให้หายขาด และหรือทำให้มะเร็งยุบลงได้มากขึ้นเพื่อทำการรักษาอื่นต่อ ช่วยประคับประคองอาการ  ประคับประคองอาการจากโรค ในกรณีเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย ช่วยลดปริมาณเซลล์มะเร็ง เพื่อให้อาการดีขึ้น ระยะเวลาปลอดโรคนานขึ้น ช่วยให้ชีวิตยืนยาวขึ้น   

 

 

 

ขั้นตอนในการทำเคมีบำบัด 

 

ในขั้นแรก แพทย์จะมีการสอบถามประวัติผู้ป่วย มีการตรวจปัสสาวะ ตรวจดูการทำงานของตับ ตรวจเลือดดู ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ยาเคมีบางชนิดจำเป็นต้องตรวจการทำงานของหัวใจก่อนให้ยา และรวมถึงตรวจภาพรังสีเพื่อดูระยะของโรคก่อนให้ยา เพื่อใช้ประเมินผลการรักษาก่อน-หลังให้ยาเคโม จากนั้นแพทย์จะต้องมีการแจ้งและพูดคุยกับผู้ป่วยเกี่ยวกับแผนการรักษา ข้อดีและข้อเสีย ไปจนผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการตัดสินใจในการเลือกใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกัน แต่ในเรื่องของปริมาณการใช้ยา วิธีการให้ยา ความถี่ในการให้ยา และระยะเวลาในการทำเคมีบำบัดจะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เป็นผู้กำหนด หมายเหตุ การทำเคมีบำบัดจะต้องมีการวางแผนการรักษาล่วงหน้าตามขั้นตอนเพื่อให้ผลของการรักษามีประสิทธิภาพและผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด   

 

 

 

การเตรียมตัวก่อนทำเคมีบำบัด 

 

การทำเคมีบำบัดอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตบางด้าน การเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการรักษาจะช่วยบรรเทาความเครียด รวมไปถึงลดผลกระทบทางด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจด้วยคำแนะนำต่อไปนี้

 

  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เน้นโปรตีนเพื่อให้ร่างกายพร้อมรับเคโมและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
     
  • หลีกเลี่ยงบุหรี่ สุรา ของหมักดอง และของมึนเมาทุกชนิด
     
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ทำอารมณ์และจิตใจให้พร้อมรับการรักษา
     
  • แจ้งแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามินเสริม หรือสมุนไพรที่กำลังใช้อยู่
     
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด คิดบวก ทำจิตใจให้แจ่มใส สุขภาพใจดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
     

 

ปัจจุบันยาเคมีบำบัดยังถือเป็นอาวุธสำคัญ ที่ใช้ในการจัดการเซลล์มะเร็ง คนไข้หลายๆท่านจะรู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย และมีความคิดที่จะไม่อยากรับยาเคมีบำบัดต่อ อย่าไรก็ตาม ความจำเป็นในการให้ยาเคมีบำบัดของคนไข้แต่ละราย คงขึ้นอยู่กับ “เป้าหมายในการรักษา” แนะนำให้คนไข้คุยกับแพทย์ผู้รักษาก่อนว่าเป้าหมายของการรักษาของคนไข้คืออะไร?   

 

เป้าหมายคือการหายขาด หากเป้าหมายคือหายขาด โอกาสนี้อาจไม่กลับมาหาเราอีกเป็นครั้งที่ 2 เราก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะรับการรักษาให้ครบคอร์ส หรือให้มากที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้   

 

เป้าหมายควบคุม ประคับประคองโรค กรณีนี้เราต้องบาลานซ์ให้ดี ระหว่างผลการรักษา และผลข้างเคียงของยาเคโม ประเมินผลการตอบสนองของโรคหลังได้เคโมและคุณภาพชีวิตของคนไข้ เพื่อประเมินว่าเราได้ประโยชน์ จากการรักษานั้นจริงๆ ซึ่งคนไข้แต่ละคนอาจจะมีบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้นการพูดคุยทำความเข้าใจระหว่างคุณหมอและคนไข้มีความสำคัญมาก 

 

ปัจจุบันยาเคโมมีการพัฒนามากขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมมียาที่ช่วยป้องกันและลดอาการข้างเคียงของยาเคโมที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ไม่อยากให้คนไข้กลัวการทำเคโมและอยากให้ทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของการให้เคโม ผลข้างเคียง และการปฎิบัติตัวระหว่างให้ยาเคโมให้ดี จะช่วยลดการเกิดอาการข้างเคียงได้มาก หากมีข้อสงสัยควรปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลจนเกิดความเข้าใจ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไข้เอง  

 

 

 

 สนับสนุนข้อมูลโดย : นายแพทย์วิกรม เจนเนติสิน 

แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยาและเคมีบำบัด