โอไมครอน Omicron

การระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ โดยมีรหัสที่เรียกว่า โควิดสายพันธุ์ B.1.1.529หรือ โอไมครอน Omicron ถูกรายงานว่าพบครั้งแรก ในตอนใต้ของทวีปแอฟริกาใต้ที่ประเทศบอตสวานา และมีการระบาดอย่างรวดเร็ว พบว่า โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ของยีนของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 50 ตำแหน่ง  โดย 32 ตำแหน่งเกิดขึ้นบนโปรตีนหนามแหลม หรือที่เรียกว่า Spike Protein ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไวรัสใช้ในการเข้าสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์ ทำให้โควิดสายพันธุ์โอมิครอน แพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า และหลบภูมิคุ้มกันเก่ง   

 

อาการส่วนใหญ่ที่พบในผู้ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน  

  • 54% ไอ 
  • 37% เจ็บคอ 
  • 29% ไข้ 
  • 15% ปวดกล้ามเนื้อ
  • 12% มีน้ำมูก 
  • 10% ปวดศีรษะ 
  • 5% หายใจลำบาก 
  • 2% ได้กลิ่นลดลง

 

กรณีสงสัยติดโควิด-19 ควรทำอย่างไร 

เมื่อมีประวัติสัมผัสกับบุคคลที่ติดเชื้อโควิด – 19 แนะนำให้ทำการตรวจวินิจฉัย โดยการตรวจ ATK หรือ PCR ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งควรป้องกันตนเอง และ ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในครอบครัว โดยการใส่หน้ากากอนามัย กักตัว และเฝ้าสังเกตอาการ   

 

ชุดตรวจโควิดที่มีขายในไทย ตรวจโอไมครอนได้ไหม 

จากข้อมูลพบว่า ชุดตรวจที่มีขายในประเทศไทย มีประสิทธิภาพในการตรวจเจอ โอไมครอนต่างกัน โดยชุดตรวจที่ไวต่อการวินิจฉัย คือชุดตรวจที่แสดงผลบวก แม้จะมีความเข้นข้นของเชื้อไวรัสน้อย ทำให้เกิดการตรวจที่ให้ผลลบลวงน้อย มีความไวต่อการตรวจเจอเชื้อสูง นั่นคือ ถ้ามีการติดโอไมครอน ชุดตรวจที่มีความไวต่อการตรวจเจอเชื้อสูงจะทำให้วินิจฉัยโรคได้เร็วกว่า   

 

การป้องกันการรับเชื้อโอไมครอน 

  • รักษาระยะห่างที่ปลอดภัยจากผู้อื่น (อย่างน้อย 1 เมตร)
  • สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่ปิดหรือเว้นระยะห่างไม่ได้
  • หลีกเลี่ยงพื้นที่ปิด พยายามอยู่ในพื้นที่เปิดโล่งและอากาศถ่ายเทสะดวก เปิดหน้าต่างเมื่ออยู่ในพื้นที่ปิด
  • ล้างมือบ่อยๆ โดยใช้สบู่และน้ำ หรือเจลล้างมือที่มีส่วนผสมหลักเป็นแอลกอฮอล์
  • ปิดจมูกและปากด้วยข้อพับด้านในข้อศอกหรือกระดาษชำระเมื่อไอหรือจาม
  • เก็บตัวอยู่บ้านเมื่อรู้สึกไม่สบาย
  • รับวัคซีนป้องกันโควิด-19

     

ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ต่อการป้องกัน โอไมครอน 

ข้อมูลจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ (symptomatic infection) ของไวรัสโอไมครอน ประเมินโดยทีมวิจัยของ UK จากฐานข้อมูลผู้ป่วยผู้ติดเชื้อโอไมครอนจำนวน 68,489 ราย ดังนี้ 

 

1. ผู้ที่ได้รับการฉีด AZ 2 เข็มแล้ว ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย mRNA ของ Pfizer หรือ Moderna ประสิทธิภาพการป้องกันโอไมครอนที่ 2-4 สัปดาห์ อยู่ที่ประมาณ 60% แต่ประสิทธิภาพของวัคซีน จะตกลงมาเหลือประมาณ 35% สำหรับ Pfizer ใน 10 สัปดาห์หลังเข็ม 3 และ 45% สำหรับ Moderna ที่ 5-9 สัปดาห์ หลังเข็มกระตุ้น   

 

2. ผู้ที่ได้รับการฉีดไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม แล้ว ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย Pfizer  หลังฉีดเข็ม 3 พบว่าประสิทธิภาพการป้องกันโอไมครอนสูงได้ถึง 70% ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ประสิทธิภาพของวัคซีน จะตกลงมาเหลือประมาณ 45% ที่ 10 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม แล้ว ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย Moderna พบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนสูงที่ 70-75% ยาวนานไปถึงมากกว่า 9 สัปดาห์  

 

 3. ผู้ที่ได้รับการฉีด Moderna 2 เข็มแบบไม่กระตุ้นพบว่า ประสิทธิภาพป้องกันโอไมครอน ที่ 2-4 สัปดาห์ อยู่ที่ 50% และ เริ่มตกมาที่ 30% ที่ 10 สัปดาห์ และ 0% ที่ 20 สัปดาห์   

 

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล 

ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช