โรคเบาหวาน ภัยเงียบที่คุณอาจไม่รู้ตัว

เราอาจจะทราบดีว่า 1 ใน 11 ของคนบนโลกนี้ หรือ 463 ล้านคน เป็นโรคเบาหวาน แต่เราอาจจะไม่รู้ว่ามีจำนวนมากกว่าครึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวานถึงครึ่งหนึ่ง และยังมีคนที่อยู่ภาวะก่อนโรคเบาหวานอีกจำนวนมาก ซึ่งคาดการณ์กันว่าในอีก 25 ปีข้างหน้าจะมีคนเป็นโรคเบาหวานถึง 700 ล้านคน 

 

อาการ รู้หรือไม่ว่าคนจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าเป็น “เบาหวาน” เพราะอาจจะไม่มีอาการของโรคที่ชัดเจน แต่เป็นอาการของโรคแทรกซ้อน ที่เกิดทั้งแบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว ซึ่งคนที่มีเป็นโรคเบาหวานมักมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย
     
  • หิวบ่อย น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
     
  • แผลหายยาก
     
  • ผิวหนังแห้ง คันตามผิวหนัง ติดเชื้อราง่าย
     
  • เป็นฝีตามตัว
     
  • สายตาผิดปกติ มีอาการตาพร่า
     
  • ชาปลายมือปลายเท้า หรือมีอาการของโรคเส้นประสาทเสื่อม
     
  • ปวดขา ปวดเข่าบ่อย ๆ
     
  • อารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย
     

หากว่าเรามีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด เพื่อการรักษาและดูแลตนเองอย่างถูกวิธี

 

 

สาเหตุของโรค เบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อันเนื่องมาจากการทำงานของอินซูลินบกพร่อง ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลให้เป็นพลังงานได้อย่างเต็มที่ จึงมีน้ำตาลสะสมอยู่ในเลือดเป็นปริมาณมาก ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อมสภาพ และเกิดอาการแทรกซ้อนจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตก่อนเวลากันควร อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปมักจะคิดว่า คนที่มีญาติเป็นโรคเบาหวานและคนที่มีน้ำหนักตัวมากเท่านั้นที่เป็นเบาหวาน แต่ที่จริงเราทุกคนมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานโดยสามารถแบ่งตามชนิดได้ดังนี้

 

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นชนิดที่ไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด แต่มีความเกี่ยวเนื่องกับระบบภูมิคุ้มกัน และเซลล์ที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อนทำงานผิดปกติ มักเกิดในเด็กและวัยรุ่น ผู้ที่มีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเป็นโรคเบาหวาน พบประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

 

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักมีสาเหตุจากพันธุกรรมและการใช้ชีวิตประจำวัน พบมากในผู้ที่น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติ ผู้ที่อายุมากกว่า 45 ปี ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง หรือไตรกลีเซอไรด์สูง ผู้ที่มีเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน ละตินอเมริกา อะลาสกา หมู่เกาะแปซิฟิก อเมริกันเอเชีย ผู้ที่มีปัญหาทางกายภาพ และผู้ที่มีภาวะก่อนการเป็นโรคเบาหวาน  พบประมาณร้อยละ 95 ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

 

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด ที่มีฤทธิ์ต้านการทำงานของอินซูลิน มักพบในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน อายุมากกว่า 25 ปี เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เคยให้กำเนิดบุตรที่น้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม มีคนในครอบครัวเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 และผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีอาการของโรครังไข่ polycystic (PCOS) ซึ่งหลังจากคลอดบุตรแล้ว คุณแม่ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 

 

 

แนวทางรักษา การรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพจะต้องเป็น “แผนการรักษาเบาหวานแบบองค์รวม” กล่าวคือ การดูแลโรคเบาหวานไปพร้อมกันกับโรคร่วม ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยสังคมของผู้ป่วย (ญาติ เพื่อน ที่ทำงาน สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ความเครียด) ด้วยเหตุนี้จึงจ้องมีการตระเตรียมทีมแพทย์ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั้งแพทย์และพยาบาลที่ดูแลรักษาโรคเบาหวานและผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ ซึ่งเป็นโรคร่วมที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น จักษุแพทย์ แพทย์โรคหัวใจ แพทย์โรคประสาทสมอง แพทย์โรคไต ทันตแพทย์ นักโภชนาการ เภสัชกร นักกายภาพผู้เชี่ยวชาญเท้า นอกจากนี้ผู้ป่วยจะต้องดูแลปฏิบัติตนตามที่ทีมแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด โดยโรคเบาหวานแต่ละชนิดจะมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันไปดังนี้

 

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักใช้ระบบอินซูลิน เพื่อทดแทนอินซูลินที่ร่างกายไม่สามารถผลิตได้ ในปัจจุบันมีการวิจัยและค้นคว้ายาเบาหวานใหม่ๆ จำนวนมาก ทั้งยารับประทาน และยาฉีดที่ไม่ใช่อินซูลิน ซึ่งมีผลข้างเคียงต่อการเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น น้อยมาก ช่วยลดน้ำหนัก และเกิดผลดีต่อหัวใจด้วย ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาเบาหวานดีมากขึ้น และเกิดผลข้างเคียงน้อยลง

 

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ใช้การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินเกณฑ์ปกติ

 

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ใช้การควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ซึ่งต้องได้รับการดูแลรักษากับแพทย์อย่างใกล้ชิด 

 

 

การดูแล การควบคุมอาหารหรือโภชนบำบัด และการออกกำลังกายเป็นประจำเป็นการดูแลตัวเองในชีวิตประจำที่ช่วยรักษาโรคเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน “คาร์โบไฮเดรต” หรืออาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เป็นอาหารต้องห้ามและควรจำกัดการรับประทานในแต่ละวัน เนื่องจากจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ตัวอย่างเช่น ผัก ผลไม้ชนิดที่ไม่หวานหรือมีดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืช โปรตีนจากปลาและสัตว์ปีก ไขมันชนิดดี เช่น น้ำมันมะกอก ถั่ว 

 

 

ป้องกันอย่างไร โรคเบาหวานสามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งการควบคุมน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการบริโภคแป้งและน้ำตาล ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 

อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพและตรวจโรคเบาหวานอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความรุนแรงของโรค เพราะยิ่งเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้เร็ว การดูแลรักษาย่อมได้ประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อน และใช้เงินในการรักษาต่ำกว่า

 

 

สรุป โรคเบาหวาน แม้ว่าในทางการแพทย์การรักษาให้หายขาด 100 เปอร์เซ็นต์ยังไม่สามารถทำได้ แต่การดูแลตนเองโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้อาการของโรคสงบ สามารถลดโรคแทรกซ้อน และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุขได้เช่นกัน

 

 

คลิก > โปรแกรมตรวจคัดกรองเบาหวาน